นักจิตวิทยาองค์กร ตัวช่วยชั้นเลิศเมื่อคนเก่งแห่ลาออกจากบริษัท...เพราะความเครียด!

avatar writer
โดย : Ying
avatar writer5 ต.ค. 2566 avatar writer352
นักจิตวิทยาองค์กร ตัวช่วยชั้นเลิศเมื่อคนเก่งแห่ลาออกจากบริษัท...เพราะความเครียด!

 

- ทำงานดีแค่ไหนก็สู้คนในใจหัวหน้าไม่ได้หรอก

- เงินเดือนและตำแหน่งเท่ากัน แต่ทำไมงานของฉันเยอะกว่า

- ทำดีไม่มีคำชม ทำพลาดหนึ่งหนโดนบ่นไป 7 วัน

 

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าประโยคที่เต็มไปด้วย การประชดประชัน และความน้อยเนื้อต่ำใจข้างต้นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียดของคนทำงาน ก่อนจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต และความสุขในการทำงานที่หดหายไป ซึ่งเหตุการณ์ที่มักจะก่อความเครียดให้กับพนักงานหลักๆ ก็คือ เหนื่อยกับคน เครียดกับงาน ท้อแท้กับระบบ และปัญหาเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้พนักงานตัดสินใจยื่นใบลาออกกันเป็นจำนวนมาก 

 

 


ทำไมนะ? สวัสดิการดีแค่ไหน เงินเดือนมากมายเท่าไหร่

ก็รั้งคนเก่งไว้ไม่ได้

 

 

 

เชื่อว่าหลายบริษัทยอมจ่ายเงินเดือนจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อใจพนักงานเก่งๆ สักคน บ้างยอมเซ็นอนุมัติสวัสดิการชั้นเลิศที่พนักงานจะไม่สามารถหาจากที่ไหนได้อีก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อใช้รั้งคนมีฝีมือให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ ถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีไหม ขอตอบในฐานะมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งว่าดีมาก

 

 

แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เมื่อคนรุ่นใหม่ๆ มีแนวคิดว่า ความสุขในที่ทำงานคือเรื่องสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องแลกความสุขของเราไปกับเงินเดือนมหาศาล ด้วยการอดทนกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรืองาน ที่เข้าข่าย "บ่อนทำลายความสุขของชีวิต" และทุกอย่างจะยิ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมากขึ้น ถ้าหากพวกเขาสะกิดบอกกับทางบริษัทแล้ว แต่ไม่ได้รับความใส่ใจ หรือการแก้ปัญหาที่ดีพอ ทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก เมื่องานที่ทำอยู่ มันทำให้คับอกคับใจการลาออกจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะคนเก่งที่ไม่ว่าบริษัทไหนก็ต้องการตัว ก็ยิ่งไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องฝืนทนอะไรอีกต่อไป

 

 

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  " ปี 2565 มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 88,119 คน สาเหตุเกิดจากการลาออกด้วยตัวเองจากภาวะหมดไฟ ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 77,143 คน หรือกว่า 87% "

 

 

จากสถิติข้างต้นทำให้เห็นว่า ความเครียด และปัญหาสุขภาพจิต เป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน การที่พนักงานต้องพบเจอกับความเครียดอยู่บ่อยครั้ง ก็เป็นการยากที่พวกเขาจะอยากทำงานต่อไป แต่ถึงแม้ปัญหาแก้ยากเหล่านี้ดูจะเป็นปัญหาที่มีกันทุกบริษัท แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางซะทีเดียว และบทความนี้อยากจะแนะนำให้รู้จัก นักจิตวิทยาองค์กร อาชีพที่จะช่วยรักษาคนเก่งให้อยู่กับบริษัทไปได้นานๆ 

 

 

 

 


นักจิตวิทยาองค์กรคือใคร มีหน้าที่อะไร

และมีความสำคัญต่อบริษัทอย่างไร ?

 

 

นักจิตวิทยาประจำองค์กร (Corporate Psychologist) คือ คนที่ใช้ความรู้ด้านจิตวิทยาเพื่อทำให้องค์กรหรือบริษัทมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ประสิทธิภาพที่นักจิตวิทยาประจำองค์กรดูแลนั้น จะเป็นที่ความเครียด และจิตใจของพนักงานโดยตรง   

 

 

  หน้าที่ของนักจิตวิทยาองค์กร

 

 

ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ Click on Clear THE TOPIC เอาไว้ ซึ่งช่วยให้เราสรุปหน้าที่ และกระบวนการทำงานของนักจิตวิทยาองค์กรได้ว่า

 

  • ทำงานร่วมกับ Hr ในการประเมิน และจัดสรรพนักงานให้ถูกต้อง ว่าแต่ละคนมีความสามารถด้านใด และเหมาะกับงานแบบไหน เช่น พนักงานคนนี้มีความสามารถด้านการเจรจาแบบเต็มเปี่ยม เราก็จะรู้ล่ะว่าจะวางงานให้เขายังไง เพื่อให้เขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ตรงนี้นอกจากบริษัทจะได้งานที่มีคุณภาพแล้ว ยังช่วยให้ตัวพนักงานรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องมานั่งเครียดกับการทำงานที่ตัวเองไม่ถนัด

  • วิเคราะห์ปัญหา และออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อสังเกตเห็นแล้วว่าพนักงานมีปัญหาแน่ๆ นักจิตวิทยาองค์กรก็จะทำการวิเคราะห์ว่าพนักงานมีความเครียดเรื่องอะไร มีสาเหตุมาจากจากอะไร บางครั้งการที่พนักงานเหี่ยวเฉา เพอร์ฟอร์แมนซ์ตก แพชชันไม่เกิด มีความเป็นไปได้หลายทางว่า ปัญหานั้นจะมาจากทั้งตัวพนักงานเอง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และระบบงาน ซึ่งเมื่อนักจิตวิทยาวิเคราะห์ได้แล้วก็จะทำการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับตัวพนักงาน และรูปแบบบริษัท

 

 

  ความสำคัญของนักจิตวิทยาองค์กร

 

 

เราจะเข้าใจถึงความสำคัญของนักจิตวิทยาองค์กร เราก็ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ทำไมการดูแลของพนักงานไม่ให้เกิดเครียดจนจิตใจย่ำแย่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ? ซึ่งคำตอบก็คือ เพราะพนักงานคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัท และเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ส่งผลให้พนักงานเครียด ไม่มีความสุขในการทำงาน ก็เป็นการยากอีกเช่นกันที่งานจะออกมามีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยที่แสดงให้ถึงผลกระทบเมื่อพนักงานเกิดความเครียด ไม่มีความสุขในที่ทำงานดังนี้ 

 

 

 

ooca.co  ได้นำเสนองานวิจัย แสดงให้เห็นว่า พนักงานมากกว่า 50% ได้รับผลกระทบจากความเครียดในที่ทำงาน และความเครียดที่สะสมนั้นทำให้สูญเสียเวลาทำงานเทียบเท่า 98 วันต่อปี และปลายทางสุดท้ายก็คือส่งผลให้องค์กรสูญเสียอย่างน้อย 6 ล้านบาท/ปี(เฉลี่ยตกคนละ 10,440 บาท)   

 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มักจะนำเสนอข่าวสาร และข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจ ยังระบุอีกว่า  “ ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา นายจ้างในสหราชอาณาจักรมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่เพิ่มขึ้น 25% และค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นถึง 56 พันล้านปอนด์ในปี 2020-2021 ” พร้อมกันนี้เว็บ Deloitte ยังคิดคำนวนไว้อีกว่า " การลงทุนทุกๆ 1 ปอนด์เพื่อให้พนักงานมีชีวิตที่ดี นายจ้างจะได้รับผลตอบแทนกลับมาเฉลี่ย 5.30 ปอนด์ หรือกว่า 500% เลยทีเดียว "  

 

 

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สุขภาพจิตของพนักงานมีผลต่องานจริงๆ และนักจิตวิทยาองค์กรนี่แหละที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการหาสาเหตุ วางแผนแก้ปัญหา สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน รวมไปถึงสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานอีกด้วย

 

 

 

 


 

 

มีบริษัทชื่อดังในต่างประเทศอย่าง Time Warner และ Sony จะมีนักจิตวิทยาประจำองค์กรประจำเต็มเวลาเพื่อดูแลผู้บริหารในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะ อีกทั้ง Facebook เองก็มีนักจิตวิทยาองค์กรคอยดูแลจิตใจพนักงานที่ต้องคัดกรองโพสต์เชิงลบจำนวนมากในแต่ละวัน ส่วนในประเทศไทยนักจิตวิทยาองค์กรจะยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ก็พบเห็นได้บ้างในบริษัทใหญ่อย่าง บางจาก, Thaioil, ธนาคารกสิกรไทย, FWD, Chevron, Bitkub เป็นต้น

 


ถึงแม้ว่าตอนนี้จำนวนของบริษัทที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้จะยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวต่อความเครียด และสภาพจิตใจของพนักงานมากขึ้น ซึ่งการหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพจิตใจของพนักงานนี้แหละ จะนำไปสู่การสร้างความสุขในที่ทำงาน และเมื่อพนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข พวกเขาก็จะมีแรงใจในการอยู่ต่อ และมีไอเดียใหม่ๆ ในการผลิตผลงานที่ดีเยี่ยมต่อไป

 

 

😊

   


 

💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่

 

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : workplace / deloitte / careervisaassessment / hfocus.org / THE STATES TIMES

  • avatar writer
    โดย Ying
    ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
แสดงความคิดเห็น