Tea Time การเดินทางของ "ชา" เครื่องดื่มยอดฮิต แท้จริงแล้วเริ่มต้นมาจากไหนกันนะ ?
โดย : Ying
ถ้าจะให้โหวตเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกสัก 1 อย่าง
เชื่อว่าต้องมีคนจำนวนมากโหวตให้ "ชา" อย่างแน่นอน
🍵
"ชา" จัดว่าเป็นเครื่องดื่มที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือแม้แต่ในประเทศไทยของเรา ชามักจะถูกหยิบมาเป็นเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นระหว่างวันเสมอ ยิ่งตอนนี้ชามีให้เลือกซื้อหลายแบบ หลายยี่ห้อ หลายรสชาติจนตาลายเลือกไม่ถูก และด้วยความฮิตตลอดกาลของชา บทความนี้เราจึงอยากพาทุกคนย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของชา พร้อมไขข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วชาที่เราดื่มกันเนี่ย มีกี่ชนิด กี่รสชาติกันแน่ ?
รู้จัก "ชา" เครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
นักประวัติศาสตร์ได้มีการค้นพบว่า มนุษย์เราดื่มชากันมาตั้งแต่ประมาณ 5,000 ปีแล้ว และ ประเทศแรกที่มีการค้นพบชา นั่นก็คือจีน โดยชาถูกค้นพบโดย จักรพรรดิของจีนนามว่า เสินหนง และยังมีตำนานถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า "วันหนึ่งจักรพรรดิเสินหนงได้ไปพักผ่อนที่ใต้ต้นชา ในขณะที่เหล่าข้าทาสกำลังต้มน้ำร้อนให้เสินหนงอยู่นั้น เกิดมีลมพัดมา ทำให้ใบไม้ร่วงลงมาตกใส่หม้อต้มน้ำของเสินหนง อีกทั้งจักรพรรดิเสินหนงยังได้ดื่มเข้าไป จึงเกิดเป็นการค้นพบชาขึ้นมาในที่สุด"
จักรพรรดิเสินหนง
ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเพียงตำนานที่ยังไม่สามารถพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ แต่จีนมีตำราอยู่ 1 เล่มที่เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า จีนรู้จักชามาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง (ปี ค.ศ. 618) ตำรานี้เรียกว่า คัมภีร์ฉาจิง เป็นคัมภีร์ที่เขียนโดยบัณฑิตชื่อ ลู่อวี่ มีทั้งหมด 3 เล่ม 10 บท ใช้เวลาเขียนถึง 27 ปี คัมภีร์ฉาจิงทั้ง 3 เล่มนี้ได้ รวบรวมศึกษาเรื่องชาเอาไว้ทุกอย่าง อาทิเช่น การปลูกชา การเก็บชา วิธีการดื่มชา ลักษณะชาที่ดีพร้อมแหล่งกำเนิด เป็นต้น ถือว่าเป็นคัมภีร์ชาเล่มแรกของโลกเลยนะ
คัมภีร์ชา (คัมภีร์ฉาจิง) ที่เขียนโดย ลู่อวี่ ขอบคุณรูปจาก https://www.chaliyi.com/
ถึงแม้ยุคราชวงศ์ถังจะดูเหมือนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมาก แต่มีข้อมูลที่ ดร. ดิษฐวัฒน์ แก้วกาญจนดิษฐ์ ให้ข้อมูลไว้ในรายการประวัติศาสตร์นอกตำราว่า มีบันทึกถึงการส่งชาไปเป็นเครื่องบรรณาการแด่องค์จักรพรรดิ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (1,099 ปีก่อนคริสตกาล) เพียงแต่ว่าชาในยุคนั้นเป็นไปเพื่อนำไปทำเป็นยาเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในการดื่มทั่วไป จากข้อมูลตรงนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงเราจะนับแค่เพียงหลักฐานที่มีการค้นพบจริง แต่จีนรู้จักชามาได้ประมาณ 3,122 ปีเลยทีเดียว
บันทึกในสมัยราชวงศ์โจว ขอบคุณภาพจากรายการ ประวัติศาสตร์นอกตำรา
ภาพฝาผนังในจีน ที่แสดงให้ถึงวัฒนธรรมการดื่มชา
เมื่อความฮิตของชาได้ถูกส่งต่อกันไปทั่วโลก
หลังจากชาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและยาวนานในจีน ก็ถึงเวลาออกเดินทางไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการเดินทางของชาก็เริ่มต้นขึ้นในยุคราชวงศ์ถังอีกเช่นเดิม
เรามาเริ่มจาก ประเทศที่รับเอาวัฒนธรรมชาของจีนไปเต็มๆ นั่นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ชาจากจีนถูกนำไปเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่นโดยพระ 2 รูป ชื่อว่า ไซโช และโคโบไดชิ ช่วงแรกชาในญี่ปุ่นไม่ได้บูมมาก เพราะจะดื่มกันแค่ในสังคมขุนนางเท่านั้น ชาเริ่มมาบูมในญี่ปุ่นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1141 - 1215 โดยพระเอไซ เพราะท่านได้นำต้นชามาปลูกไว้บริเวณเกาะคิวชู คนญี่ปุ่นจึงได้รู้จักและได้ดื่มชากันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในยุคสมัยเดียวกัน จีนก็ได้เริ่มควบคุมเส้นทางการค้าทางบก ขยายตัวไปยังทิศตะวันตกหรือที่เรารู้จักกันในนาม เส้นทางสายไหม จุดนี้ทำให้ชาจากจีนเริ่มเดินทางเข้าสู่ทิเบต รวมไปถึงประเทศอื่นๆ อีกหลายทวีปทั่วโลก
พระไซโช และ พระโคโบไดชิ ผู้นำชาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น
ชายังได้เดินทางไปไกลสู่ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ชาถูกนำเข้ามายังอังกฤษ ผ่านทางเจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งบรากันซา (Catherine of Braganza) เจ้าหญิงจากโปรตุเกส ซึ่งเธอเดินทางมายังอังกฤษ เพื่อแต่งงานกับชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II) กษัตริย์แห่งอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1662 ด้วยความที่เธอชอบดื่มชามาก เธอจึงนำชาติดตัวมาด้วย และนั่นก็ทำให้ชาเริ่มเป็นที่รู้จักในอังกฤษ แม้จะแค่ในสังคมชั้นสูงก็ตาม อังกฤษติดใจรสชาติของชามาก จนถึงขั้นออกล่าอาณานิคมไปยังจีนเลยทีเดียว
Catherine of Braganza
ในช่วงก่อนจะเกิดสงครามฝิ่นกับจีน อังกฤษประสบปัญหาขาดดุลการค้า ไม่สามารถซื้อขายชากับจีนได้เหมือนแต่ก่อน อังกฤษจึงพยายามหาพื้นที่เพาะปลูกชาแบบจีน เพื่อที่จะได้ส่งกลับไปยังประเทศของตัวเองได้ อังกฤษพยายามหาอยู่นาน แต่ปลูกยังไงก็ไม่ได้ดั่งใจ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1823 นาย Robert Bruce ชาวอังกฤษ ได้ค้นพบต้นชาชนิดหนึ่งที่รัฐอัสสัมประเทศอินเดีย การค้นพบครั้งนั้นทำให้เกิดเป็น ชาอัสสัม ชาที่ฮิตกันตั้งแต่ในยุคนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
ภาพถ่ายขณะเก็บชาอัสสัม ที่บันทึกได้ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
ขอบคุณรูปจาก https://www.tea-and-coffee.com
ชาอัสสัมทั้งแบบใบสด และแบบแห้ง
หลังจากการค้นพบชาอัสสัม ด้วยความที่อังกฤษไม่ได้ล่าอาณานิคมแค่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ออกล่าอาณานิคมในหลายประเทศ นั่นจึงส่งผลทำให้ชา เดินทางไปได้ไกลกว่าเดิม จนในที่สุดชาก็เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมไปทั่วโลก
แม้แต่ในประเทศไทย ก็รู้จักกับการดื่มชามาอย่างยาวนานเช่นกัน ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่นัก แต่ในประวัติศาสตร์พบว่ามีชาวจีนเข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - 1644) จึงเกิดการคาดเดาว่า ชาน่าจะมาพร้อมชาวจีนกลุ่มนั้นด้วย แต่ถ้าเอาแบบที่มีหลักฐานชัดเจนก็คือ บันทึกลาลูแบร์ ที่เขียนโดยนาย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ค.ศ. 1787
ในบันทึกบอกว่า ชาวไทยมีการดื่มชากันในย่านเมืองหลวง และยังมีหลักฐานในหนังสือ ความฝันในหอแดง โดยในหนังสือได้บรรยายถึงการพูดคุยของตัวละครว่า ชาของประเทศไหนอร่อยกว่ากันระหว่างไทยกับจีน บทความในหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ไทยก็เคยส่งใบชามาเป็นเครื่องบรรณาการให้แก่จักรพรรดิจีน มาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ชิง (ประมาณ ค.ศ. 1636 - 1302) เรียกว่าประเทศไทยเราก็ผูกพันกับชามาไม่น้อยเลยทีเดียว
บันทึกลาลูแบร์ และ หนังสือความฝันในหอแดง
ดื่มกันทั่วโลกขนาดนี้
แต่ชา "เกือบทั้งหมด" ก็มาจากสายพันธุ์เดียวกันนะ !
กลับมาเรื่องที่เราสงสัยกันบ่อยครั้งว่า ที่ร้านชามีชาให้เราเลือกเยอะมาก ไม่ใช่แค่ชาที่ชงสดเท่านั้นนะ แต่ชาพร้อมดื่มตามร้านค้าทั่วไปก็มีให้เลือกเยอะเช่นกัน สรุปแล้วที่มีให้เลือกเยอะแยะนั้น เป็นชาคนละสายพันธุ์จริงหรือ ? ถ้าเป็นตามร้านที่ชงชาสดๆ พนักงานก็จะให้คำแนะนำอย่างดี ว่าชาชนิดไหนรสชาติเป็นอย่างไร และชาชนิดไหนมาจากประเทศอะไร และเราก็มักจะได้รับข้อมูลจากพนักงานว่า ชาโดยปกติแล้วจะมีด้วยกัน 5 ประเภทคือ
- ชาขาว
- ชาเขียว
- ชาอู่หลง
- ชาดำ
- ชาแต่งกลิ่น
หรือบางข้อมูลอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทเท่านั้น คือชาไม่หมัก ชาหมัก ชากึ่งหมัก ก็ไม่ผิด
แต่ทุกคนรู้ไหมว่า ชาเกือบจะทุกชนิดบนโลกใบนี้ ล้วนมีต้นกําเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน นั่นคือ Camellia Sinensis (เคมีเลียซิเนนซิส) ซึ่ง Camellia Sinensis ก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ด้วยกัน นั่นก็คือ
- Camellia sinensis vav. Sinensis หรือชาจีน
- Camellia sinensis vav. Assamica หรือชาอัสสัมที่มาจากอินเดียนั่นเอง
แล้วที่พนักงานแนะนำว่ามี 5 ประเภทล่ะ ข้อมูลผิดหรอ ? คำตอบคือ ไม่ผิด แต่สิ่งที่ทำให้ชามีรสชาติ และกลิ่นที่ต่างกันนั้น มันคือกรรมวิธีเก็บเกี่ยว รวมไปถึงการนำไปแปรรูป ซึ่งเราสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือชาที่ผ่านการหมัก และชาที่ไม่ผ่านการหมัก
ต้น Camellia sinensis
🍵 ชาที่ไม่ผ่านการหมัก
- ชาขาว คือการนำยอดอ่อนที่เพิ่งแตกออกมา มาอบไอน้ำในระยะเวลาสั้นๆ
- ชาเขียว เป็นการนำยอดใบชาที่ปลูกกลางแจ้ง ผ่านการอบไอน้ำแล้ว มาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วเพื่อคงความเขียวของใบชา ส่วนมัทฉะคือการนำใบแห้งที่ได้ มาบดให้เป็นผงละเอียดอีกที
🍵 ชาที่ผ่านการหมัก
- ชาอู่หลง มาจากการนำยอดใบชาสดไปผึ่งแดดก่อน แล้วนำไปผึ่งในร่มที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างเหมาะสม จากนั้นก็นำใบชาที่ได้ไปทำให้ช้ำเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เมื่อทำให้ช้ำเสร็จก็จะนำใบชาไปผ่านความร้อน และนวดขึ้นรูปเป็นเม็ดๆ และในขั้นตอนสุดท้ายก็จะนำไปอบแห้งเพื่อลดความชื้น
- ชาดำ คือการนำใบชามาทำให้แห้งเป็นเวลา 16 ชั่วโมง จากนั้นก็นำไปหมัก ชาดำจะได้รับการบ่มมากที่สุด จึงทำให้ชาดำมีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากชาชนิดอื่น
- ชาแต่งกลิ่น จะเป็นการนำชาดำมาแต่งกลิ่นเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีชาอีก 1 ชนิดนั่นก็คือ ชาสมุนไพร เป็นชาที่สกัดมาจากสมุนไพร แต่จริงๆ แล้วในขั้นตอนของการสกัดจะไม่มีใบชาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย หรือถ้าจะมีก็อาจจะมีในปริมาณที่น้อยมาก ส่วนมากจะเน้นไปที่รสชาติและกลิ่นสมุนไพรมากกว่า
นอกจากความนิยมที่มีอย่างล้นหลามแล้ว
"ประโยชน์ของชา" ก็มีมากมายไม่แพ้กัน
จากตำนานการค้นพบชาในสมัยจักรพรรดิเสินหนง การส่งชามาเพื่อทำยาในสมัยราชวงศ์โจว รวมไปถึงเนื้อหาในคัมภีร์ชา (ฉาจิง) สิ่งเหล่านี้ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ชาคือยาที่ดี ให้ความกระปรี้กระเปร่า ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง จนเกิดเป็นการนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยความฮิตซะเหลือเกินนี่แหละ ทำให้ในปัจจุบันก็ได้มีงานวิจัยถึงประโยชน์ของชากันอย่างจริงจัง และงานวิจัยเหล่านี้ ทำให้เราได้ค้นพบประโยชน์ของชาดังนี้
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ สำหรับสารต้านอนุมูลอิสระนี้จะช่วยในเรื่อง การต่อต้านความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมไปถึงช่วยต่อต้านพวกโรคที่พบได้มากในมนุษย์อย่างโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม โรคอ้วน รวมไปถึงโรคมะเร็ง จากงานวิจัยพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระนี้พบได้มากใน ชาขาว เพราะชาขาวเป็นชาที่ผ่านกรรมวิธีในการเก็บเกี่ยวมาน้อยที่สุด
- มี Flavonoids สูง เจ้าสาร Flavonoids (ฟลาโวนอยด์) นี้ ก็มีส่วนช่วยในการ บำรุงหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล และการแข็งตัวของเลือดได้ สารชนิดนี้พบมากใน ชาเขียว อีกทั้งยังมีงานวิจัยของชาเขียวออกมาเฉพาะอีกด้วยว่า สารในชาเขียวสามารถดับกลิ่นปาก และลดแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จึงช่วยกำจัดจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ภายในช่องปากได้
- ลดการอักเสบของผิว ข้อมูลจาก Penn Medicine บอกเอาไว้ว่า การอาบน้ำหรือแช่ตัวในน้ำที่มี ชาดำ จะช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนัง รวมไปถึงพวกผื่นคันได้
- ในชามี L-theanine (แอล - ธีอะนีน) สูง โดยเฉพาะใน ชาอู่หลง จะช่วยในเรื่องของการเพิ่มการปล่อยคลื่นอัลฟา และลดการปล่อยคลื่นเบต้าในสมอง ทำให้สมองเกิดความผ่อนคลาย ลดความเครียด ช่วยให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของความจำอีกด้วย
ถึงแม้ว่าชาจะมีสรรพคุณที่ดีมากมายอย่างไร แต่ในวงการแพทย์ก็ได้มีการเตือนเช่นกันนะว่า ไม่ควรดื่มชาในปริมาณที่มากเกินไป นั่นก็เพราะสารในชาบางตัวยิ่งรับเข้าร่างกายมาก ก็จะกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี โดยสารดังกล่าวที่ว่านี้ได้แก่
- คาเฟอีน ถ้ารับเข้าร่างกายมากไป จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกเสียหายได้
- ฟลูออไรด์ หากได้รับในปริมาณที่มากไป ก็จะส่งผลเสียต่อไตของเรา
- สารแทนนิน สารนี้จะทำให้เกิดการตกตะกอนของโปรตีนและแร่ธาตุ มีผลทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ไม่เต็มที่ ยิ่งในกลุ่มเด็กๆ ที่ต้องการสารอาหารมากที่สุด ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ชาที่ใส่นม ไม่ว่าจะเป็นนมชนิดไหนก็ตาม นั่นก็เพราะว่าโปรตีนในนมจะไปลดประสิทธิภาพของสารที่เป็นประโยชน์ในชา ทำเราไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แนะนำว่าควรเน้นไปที่การดื่มชาเพียวๆ จะดีที่สุด
เราได้รู้จักชา และการเดินทางที่ยาวนานของชามากขึ้นแล้ว นั่นทำให้เราเข้าใจได้ถ่องแท้ว่า ทำไมชาถือเป็นสมบัติล่ำค่าของจีน ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมานานเป็นพันปี แต่คุณค่าของชาก็ไม่เคยลดลงเลย แม้ในปัจจุบันจะมีการคิดค้น เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงรสชาติ และนำเสนอชาในรูปแบบใหม่มากมาย แต่วัฒนธรรมการดื่มชาในแบบดั้งเดิม ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอด เช่น วัฒนธรรมชาโด (วิถีแห่งชา) ของญี่ปุ่น หรือ Afternoon tea ของอังกฤษ เป็นต้น
ความล้ำค่าที่ไม่ธรรมดาของชานี้ ก็เคย "สร้างเรื่อง" ให้กับชาวอังกฤษไม่น้อย เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชาวอังกฤษคลั่งชาอย่างหนัก จนเกิดเป็น โรคบ้าชา ขึ้นมาเลยทีเดียว อีกทั้งยังถึงกับมีประโยคเปรียบเทียบออกมา ซึ่งประโยคเปรียบเทียบนี้ มีการนำคำว่าชาและชื่อประเทศจีนใส่เข้าไปด้วย ซึ่งประโยคนั้นก็คือ
"Not for all the tea in China"
หรือแปลเป็นไทยได้ว่า
"ไม่ยอมแม้ว่าจะให้ชาทั้งเมืองจีน”
ก็คล้ายๆ กับจะบอกว่า ต่อให้เอาของล้ำค่ามากองท่วมหัว แต่ฉันก็ไม่ยอมหรอกนะ ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า อังกฤษชื่นชอบชามาก จนนำชามาเป็นส่วนหนึ่งของทุกลมหายใจเลยทีเดียว
ภาพที่แสดงถึงอาการ The Tea Phrensy หรือโรคบ้าชา โดย M Smith ปี 1785
💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : pennmedicine / รายการประวัติศาสตร์นอกตำรา / tea.co.uk / samrong-hosp
โดย Ying
ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ