🤿 ดำน้ำตัวเปล่าใครว่ายาก ? รวมเรื่องต้องรู้ของ Freedive พร้อมการฝึกเบื้องต้น มือใหม่แค่ไหนก็ฝึกได้ !
โดย : Ying
💭 ในฐานะที่เป็นครูสอนดำน้ำ ได้สัมผัส ได้ใช้ชีวิตอยู่กับ Freedive ทุกวัน อยากให้ครูช่วยบอกหน่อย ว่าสำหรับครูทั้งสองคนแล้ว Freedive คืออะไร ?
- Freedive จริงๆ ก็เหมือนกิจกรรมอื่นไม่ว่าจะเป็นวิ่ง ปีนผา ฟุตบอล เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเรารู้สึกสนุกไปกับมัน และอยากทำต่อไปเรื่อยๆ มีทั้งความท้าทาย ความสงบ รวมถึงได้เจอคนมากมายที่สนใจในสิ่งเดียวกันครับ - ครูเตอร์ ครูสอนดำน้ำจากโรงเรียน BigBubble Diving
- Freedive คือความอิสระครับ หลังจากที่ผมได้เข้าสู่วงการดำน้ำ Freediving อย่างจริงจัง ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่การเข้าใจแค่ว่าวิธีที่ถูกต้องเขาทำยังไงกันอย่างเดียวนะ แต่มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะการได้อยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก เหมือนลอยอยู่ในอวกาศแบบนี้ มันทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นกว่าทุกช่วงเวลาในชีวิต และทุกครั้งที่ขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือกลับมาหายใจ มันจะได้ความรู้สึกเหมือนได้เกิดไหม่อีกครั้ง เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ Freedive is Freelife จริงๆ - ครูพงษ์ ครูสอนดำน้ำจากโรงเรียน BigBubble Diving
"Freedive is Freelife"
ทำความรู้จัก ดำน้ำตัวเปล่า ความฟินของคนไม่ชอบแบกถัง
💙
อย่างที่เราทราบกันจากพาร์ทที่แล้วว่า Freedive เป็นการดำน้ำโดยไม่ใช้ถังอากาศ สิ่งจำเป็นจะมีแค่เพียง 1 ลมหายใจ หน้ากาก ท่อ snorkel พร้อมด้วยตีนกบ ( Fin ) อีก 1 คู่เท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว Freedive จัดอยู่ในกลุ่มของกิจกรรมสันทนาการ รวมไปถึงกีฬา ในด้านกีฬานอกจากเขาจะมีการแข่งขันเพื่อเก็บสถิติกันอย่างจริงจังแล้ว ยังมีการแข่งขันอีกหลายแบบด้วย
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 - 20 ปีก่อน หลายคนต่างตื่นเต้น เวลาที่เห็นคนกลั้นหายใจในน้ำได้นาน หรือเวลาที่เห็นคนดำน้ำลงไปในใต้ทะเลได้ลึก มันดูเป็นกิจกรรมที่ Wow มากสำหรับคนที่เพิ่งได้รู้จัก แต่พอในช่วงที่ Freedive บูมขึ้นมา หลายคนก็เริ่มมีการศึกษา สมัครเรียน หรือสอบเอาใบเซอร์กันอย่างจริงจังมากขึ้น เราจะรู้สึกได้เลยว่ามันมหัศจรรย์มาก กับการที่เราฝึกร่างกาย ให้ไปถึงจุดที่เกินขีดจำกัดความสามารถเดิมของเรา
ลงไปกำทรายที่ก้นทะเล เป็นพาร์ทที่ Freediver เกือบทุกคนต้องเคยทำ
จริงๆ แล้วมนุษย์เรามีวิถีชีวิตอยู่กับการดำน้ำตัวเปล่ามานาน ตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษเลยก็ว่าได้ ถ้าอิงตามหน้าประวัติศาสตร์ มนุษย์เรามีการ ดำน้ำหาอาหารมาเป็นเวลากว่า 8,000 ปีแล้ว นักโบราณคดีเคยสำรวจเจอซากมัมมี่ของชนเผ่า Chinchorian ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณที่อาศัยอยู่ราวๆ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล จากการตรวจสอบพบว่าพวกเขามี ภาวะ exostosis ซึ่งเป็นภาวะที่กระดูกของช่องหูเริ่มงอกออกมา ซึ่งการที่กระดูกช่องหูงอกออกมานี้ เป็น หนึ่งในปฏิกริยาของร่างกาย ที่ต้องการจะป้องกันตัวเองจากการสัมผัสกับน้ำเย็นแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นภาวะที่มีโอกาสเจอได้ในนักดำน้ำ หรือคนที่ทำกิจกรรมทางน้ำเป็นประจำ
ทั้งยังมีข้อมูลการค้นพบอีกว่า เมื่อ 332 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชได้สั่งให้นักดำน้ำทำการรื้อเสาใต้น้ำ เพื่อป้องกันเรือของเขาระหว่างการเข้าล้อมเมืองไทร์ อีกทั้งในปี 1913 Stotti Georghios ชายชาวกรีก ได้ทำการดำน้ำลงไปลึกกว่า 60 เมตร เพื่อค้นหาสมอของเรือรบ Regina Margherita โดยวิธีการของเขา คือการอาศัยจับก้อนหินแล้วค่อยๆ ไต่ลงไป แต่ถึงจะมีเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ในการการันตีว่ามนุษย์นั้นสามารถดำน้ำได้ แต่ Freedive ก็ยังไม่ได้รับความนิยมอยู่ดี ด้วยน้ำที่เย็นเวอร์วัง อีกทั้งยังมีเรื่องของความดันอากาศอีก
เป็นเวลากว่าหลายปีหลังจากนั้น ถึงจะเริ่มมีผู้คนดำน้ำตัวเปล่ากันมากขึ้น อาจจะด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป แต่ที่แน่ๆ มันทำให้เราเห็นว่า มนุษย์เราเริ่มรู้จักกับการดำน้ำแบบ Freedive กันมานานแล้ว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ต่อให้เราไม่ใช้อุปกรณ์อย่างถังอากาศ มนุษย์ก็สามารถดำน้ำได้
Robert Croft เจ้าของสถิติโลก Freediving คนแรกของสหรัฐ โดยสถิติก่อนที่เขาจะวางมือคือ 73 เมตร ในปี ค.ศ. 1968
เทคนิคการกลั้นหายใจแบบฉบับ Freediver
🤿
สำหรับหัวข้อนี้ ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะ Freedive นั้นเกี่ยวข้องกับการกลั้นหายใจโดยตรง คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ ทำยังไงเราถึงจะกลั้นหายใจได้นาน พอที่จะได้ชมปลา ชมปะการังให้หนำใจ ? จากข้อมูลของ หมอชาวบ้าน ได้บอกเอาไว้ว่า
“ในคนปกติ ถ้าหยุดหายใจ หรือหายใจไม่ได้ 2-3 นาที จะหมดสติ
ถ้าหยุดหายใจนาน 5 นาที หัวใจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ
แต่ถ้าหยุดหายใจ 8 นาที หัวใจจะเต้นอ่อนลงมาก
ซึ่งถ้าเกิน 8 นาทีเป็นต้นไป หัวใจจะหยุดเต้น”
แต่ อ้างอิง จากสถิติโลกที่ได้รับการรับรอง ระบุเอาไว้ว่า เมื่อปี 2009 Mifsud Stéphane ได้ทำสถิติ Static Apnea หรือการกลั้นหายใจนิ่งๆ บนผิวน้ำ ได้นานถึง 11.35 นาที ตอนที่เรานั่งดูสถิตินี้ก็รู้สึกงงและทึ่งเหมือนกัน ว่าคนธรรมดาๆ อย่างเรา จะสามารถทำลายกฎเกณฑ์ของวงการแพทย์ได้ขนาดนี้เชียวหรอ ?
มันก็จริงอยู่ที่ว่า การกลั้นหายใจอยู่เฉยๆ บนผิวน้ำที่นิ่งไม่ขยับ ร่างกายไม่ได้ทำงาน ก็จะกลั้นหายใจได้นานกว่า แต่นักเรียนจากทุกโรงเรียนจะต้องผ่านการสอนและการฝึกแบบ Static Apnea กันมาก่อนทั้งนั้น และในแต่ละ Level ก็จะมีเกณฑ์การกลั้นหายใจในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง Freediving Level 1 จะอยู่ที่ 1.30 นาทีเป็นอย่างต่ำ ส่วน Freediving Level 2 จะต้องกลั้นให้ได้ 2.30 นาทีขึ้นไป ซึ่งถ้าเราฝึกตรงนี้ได้ ก็จะยิ่งทำให้เราใช้เวลาอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นด้วย
การกลั้นหายใจแบบ Static Apnea กลั้นหายใจลอยตัวอยู่กับที่
การกลั้นหายใจในลักษณะ dynamic apnea หรือการกลั้นไปว่ายไป
อ่านแล้วดูเหมือนจะยากใช่ไหม ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะเรียนอย่างจริงจัง ก็รู้สึกว่ามันยากเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว ทุกคนรู้กันหรือเปล่าว่า เราสามารถกลั้นหายใจในน้ำได้นานกว่าบนบกนะ เหตุผลก็เพราะว่ามีปฏิกิริยาตัวนึงที่เรียกว่า Mammalian Diving Reflex หรือปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ ที่เป็นการตอบสนองของร่างกายโดยอัตโนมัติเวลาที่เราดำน้ำ โดยปฏิกริยานี้มันจะช่วยให้กลั้นหายใจได้นานขึ้น
โดยเจ้า Mammalian Diving Reflex จะมีปฏิกริยาดังนี้
◼ Bradycardia เป็นปฏิกิริยาที่เมื่อใบหน้าของเราสัมผัสกับน้ำ สมองจะสั่งการให้หัวใจเราเต้นช้าลง เพื่อประหยัดการใช้ออกซิเจน
◼ Peripheral vasoconstriction เป็นปฏิกิริยาที่หลอดเลือดตามแขนและขาจะถูกบีบให้เล็กลง เลือดก็จะถูกส่งไปตามแขนและขาน้อยลง เพื่อประหยัดออกซิเจนไว้ให้สมองและหัวใจ
◼ Blood shift เป็นปฏิกิริยาที่เลือดจะถูกส่งเข้าปอด เพื่อให้ปอดทนแรงต้านน้ำมากขึ้น
◼ Spleen effect ปิดท้ายที่ปฏิกิริยาที่ม้ามจะผลิตเม็ดเลือดแดงออกมา ทำให้ร่างกายเรามีออกซิเจนมากขึ้น
โดยเหล่า Freediver ทั้งหลายก็จะนำปฏิกิริยานี้มาใช้ประโยชน์ ครูบางท่านอาจจะแนะนำให้นักเรียน เอาน้ำลูบหน้าเพื่อฝึกกลั้นหายใจบนบก ก็จะทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งก็เป็นวิธีการง่ายๆ แต่ก็ช่วยได้ดี
"แล้วการฝึกกลั้นหายใจนานๆ แบบฉบับ Freedive เขาทำอย่างไรกันนะ ?"
การกลั้นหายใจแบบฉบับ Freedive ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเวลาที่เราดำน้ำ เราจะไม่ได้หายใจออกประมาณ 1 นาทีครึ่ง และยิ่งถ้าเป็นนักดำน้ำเก่งๆ ผ่านการฝึกมาเยอะ ก็จะใช้เวลาในการกลั้นอยู่ที่ 2 นาทีครึ่งเป็นอย่างต่ำ เพราะฉะนั้น ในการหายใจเข้า 1 ครั้งก่อนดำน้ำ นั่นจะเป็นอากาศที่เราจะต้องบริหารจัดการให้ดี เหมือนที่บรรดาครูสอนดำน้ำหลายคนมักจะพูดประโยคที่ว่า “อากาศมีน้อยใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ” ให้นักเรียนหลายคนได้ยินกันบ่อยๆ นั่นเอง
ในส่วนของการฝึกหายใจแบบ Freedive จะมีส่วนสำคัญอยู่ 3 จุดหลักๆ ได้แก่
▶ Relaxation Breathing
▶ Final Breathing
▶ Recovery Breathing
แต่ก่อนที่เราจะเริ่มฝึกเราก็ต้องมาผ่อนคลายกันก่อน โดยขั้นตอนของการผ่อนคลาย ละทิ้งความเครียดและความกังวลตรงนี้ จะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจของเราช้าลง ยิ่งเราผ่อนคลายมากเท่าไหร่หัวใจก็จะเต้นช้าลงมากเท่านั้น แล้วพอเราไม่เครียดก็ยังส่งผลทำให้พวกกล้ามเนื้อทั้งหลายผ่อนคลายขึ้นด้วย ถ้าใครใส่พวก Smart Watch นอน ลองดูอัตราการเต้นของหัวใจย้อนหลัง เราจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่เราหลับ อัตราการเต้นของหัวใจเราจะช้าลงและคงที่กว่า
ดังนั้นก่อนที่เราจะดำน้ำ เราจำเป็นที่จะต้องสลัดความเครียดทั้งหลายทิ้งไป จริงอยู่ที่ว่า เวลาเราฝึกการเต้นของหัวใจอาจจะไม่ได้ช้าเท่าตอนนอนหลับ ดังนั้นเอาแค่ให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายที่สุดก็พอ ขั้นตอนนี้เหมือนเป็นการเตรียมจิตใจให้พร้อม เพราะถ้าหากหัวใจเราเต้นถี่ เต้นแรง มันจะทำให้ทุกๆ ส่วนของร่างกายทำงานหนัก เราก็จะกลั้นหายใจได้น้อยลง ซึ่งอาจจะไม่ถึง 30 วินาทีด้วยซ้ำ
โดยการผ่อนคลายของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ตอนเราฝึกก็อาศัยพลังธรรมชาติ มองต้นไม้ ท้องฟ้า อะไรก็ว่าไป หรือบางคนอาจจะเลือกการฟังเพลงบรรเลง จังหวะช้าๆ หรือบางคนอาจจะแค่นั่งในท่าสบายๆ เท่านั้น ร่างกายก็รู้สึกว่าได้ผ่อนคลายแล้ว
ทิ้งความเครียด ความกังวล ผ่อนคลายเข้าไว้ เป็นดีที่สุด
Relaxation Breathing
อย่างที่เรารู้กันว่า การดำน้ำแบบ Freedive เราจะต้องกลั้นหายใจกันให้ได้อย่างต่ำ 1.30 นาที ซึ่งมันก็จะมีวิธีที่เหล่า Freediver ส่วนใหญ่ใช้ฝึกกัน
- เริ่มกันที่ขั้นแรก เราจะหายใจเข้า โดยที่ให้ปากของเราทำรูปร่างเหมือนว่ากำลังดูดน้ำด้วยหลอด
- เสร็จแล้วให้เราทำการหายใจออก ซึ่งขั้นตอนของการหายใจนั้น ตอนหายใจเข้าท้องจะป่อง ตอนออกท้องจะแฟ่บ ลักษณะจะเป็นการหายใจเข้าสั้น หายใจออกยาว
- ตอนหายใจออกจะใช้เวลาเป็น 2 เท่าของตอนหายใจเข้า เราจะทำขั้นตอนนี้ประมาณ 1 นาที แต่จะไม่เกิน 2 นาที วิธีการก็คือ
หายใจเข้านับไป 4- 5 วินาที > กลั้นหายใจนับ 1 -2 วินาที > ปล่อยลมหายใจออกนับไป 8 - 10 วินาที
หากเป็นการฝึกในน้ำ ขั้นตอนนี้เราจะใช้ snorkel ในการหายใจ ตอนที่นักดำน้ำกำลังทำ Relaxation Breathing นักดำน้ำจะลอยตัว ในลักษณะคว่ำหน้า แล้วคาบ snorkel ไว้ ปลายท่อจะอยู่เหนือน้ำเพื่อให้หายใจเข้าออกตามสเต็ปที่บอกไว้ด้านบนได้ ด้วยนักดำน้ำใส่หน้ากากที่ปิดจมูกอยู่แล้ว ทำให้พวกนักดำน้ำจะหายใจทางปากโดยอัตโนมัติ
พอเราใส่หน้ากาก และใช้ snorkel จะช่วยให้เราหายใจเข้าออกทางปากอัตโนมัติ
Final Breathing
หลังจากที่เราทำ Relaxation Breathing แล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนของการเอาออกซิเจนเข้าท้องผ่านทางปากเหมือนเดิม เมื่อเอาเข้าท้องเต็มแล้วก็เอาไปเก็บไว้ที่ปอดต่อ ตรงนี้คุณครูจะแนะนำว่า ไม่ควรเก็บออกซิเจนจนอิ่มเกินไป เราควรจะเก็บอากาศกันแค่ประมาณ 80% ก็พอ เพราะถ้าอากาศเยอะจนล้น จะส่งผลให้เราอึดอัดขณะดำน้ำ โดยในขั้นตอนนี้จะมีวิธีการคือ
- ครั้งที่ 1 หายใจเข้าท้องจนเต็ม > ส่งมาที่ปอดพอดีๆ > แล้วหายใจออก
- ครั้งที่ 2 หายใจเข้าท้องจนเต็ม > ส่งมาที่ปอดพอดีๆ > แล้วเริ่มกลั้นหายใจกันเลย
สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยผ่านคอร์สเรียนมาก่อน ครูจะแนะนำว่า ไม่ให้ทำขั้นตอนนี้เกิน 2 ครั้งและ ห้ามไปฝึกเองที่สระว่ายน้ำเด็ดขาด ! เพราะว่าถ้าเราฝืน Final Breathing มากเกินไป อาจจะทำให้เกิดอันตรายเช่น หมดสติได้ มือใหม่ที่ยังไม่เคยเรียนควรฝึกบนเตียงจะดีที่สุด
นักดำน้ำกำลังทำการ Relaxation Breathing และ Final Breathing ก่อนที่จะ duck dive ลงไปที่ระดับความลึก 5 เมตรขึ้นไป
Recovery Breathing
เมื่อเรากลั้นหายใจเสร็จแล้วไม่ว่าจะเป็นการฝึกที่ห้องหรือดำน้ำจริงก็ตาม Recovery Breathing จะเป็นขั้นตอนที่เราทำเมื่อขึ้นผิวน้ำแล้ว แน่นอนว่าขณะกลั้นหายใจก็จะมีการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในร่างกายเกิดขึ้น โดยขั้นตอนนี้ก็จะเป็น การเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากตัว โดยจะมีวิธีคือ
หายใจออกแบบผ่อน > หายใจเข้าลึก ๆ > เก็บไว้ 3 วิ > แล้วหายใจออก
โดยครูพงษ์กับครูเตอร์จะสอนขั้นตอนนี้แบบน่ารักและจำง่ายๆ ว่า op - pa คือหายใจเข้า op หายใจออก pa เป็นวิธีการสอนที่ทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น ว่าถ้าขึ้นจากผิวน้ำแล้วต้อง op - pa ลองทำตามดูได้เลย
หายใจออกแบบผ่อน > op > เก็บไว้ 3 วิ > pa
ในขั้นตอน op - pa เราควรจะทำ 3 ครั้ง จากนั้นถ้าสบายดีไม่รู้สึกวิงเวียนอะไรก็ยกมือบอก OK กับบัดดี้หรือครูได้เลย ซึ่งวันที่เราฝึกบอกตามตรงเลยว่า เราลืม Recovery Breathing บ่อยมาก มือใหม่มักจะคิดว่ากลั้นหายใจมาจนหน้าจะเขียวแล้ว ชั้นอยากจะได้อากาศโดยด่วน อยากหายใจเข้าออกเร็วที่สุด แต่ตรงนี้ครูย้ำเสมอว่า ห้ามลืม ! ไม่เช่นนั้นเราอาจจะบาดเจ็บหรือเกิดอาการ Black Out ได้
เมื่อเราทำทุกขั้นตอนหมดแล้ว แต่ละคนก็จะกลั้นหายใจได้ในระยะเวลาต่างกันออกไป บางคนมาก บางคนน้อย จะบอกว่ามีอีกสิ่งที่สำคัญคือ เราควรจะมีการพัก และควรจะพักเป็น 3 เท่าของเวลาที่ใช้ไปตอนกลั้นหายใจ เช่น เพื่อนๆ อาจจะกลั้นได้ 1 นาที เพราะฉะนั้นตอนที่เราพักก็ควรจะพัก 3 นาทีเป็นอย่างต่ำ ไม่ควรกลั้นหายใจต่อเนื่องติดกันเกินไป โดยเฉพาะในมือใหม่ควรจะเซฟตัวเองกันไว้ก่อน ค่อยๆ ฝึกไปเดี๋ยวเราจะเก่งขึ้นเอง
🚨 คำเตือน ไม่แนะนำให้คาบ snorkel ไว้ขณะดำน้ำ เพราะน้ำจะเข้ามาทางท่อ และอาจจะทำให้สำลักน้ำจนเกิดอันตรายได้ ทางที่ดีเมื่อหายใจเก็บอากาศเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เอา snorkel ออกจากปากเลย
เหล่า Freediver จะไม่คาบท่อขณะดำน้ำ เพราะอาจจะส่งผลให้สำลักน้ำจนเกิดอันตรายได้
การเคลียร์หู ปัญหาระดับชาติของนักดำน้ำ
🤿
หากคุณคิดว่าการกลั้นหายใจได้นานคือสิ่งสำคัญที่สุดในการ Freediving เราขอแนะนำให้รู้จักอีก 1 อย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต่อให้คุณกลั้นหายใจได้ 3 นาที แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องการเคลียร์หู Freedive ก็จะไม่ Fundive สักเท่าไหร่
"ทำไมการเคลียร์หูถึงเป็นปัญหาใหญ่ ?"
ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า ไม่ว่าจะบนฟ้าหรือในน้ำต่างก็มีความดันอากาศมากกว่าบนบกที่เราใช้ชีวิต เวลาดำน้ำแน่นอนว่าน้ำทะเลจะไหลเข้ามาในโพรงหูของเรา ไปจนถึงเยื่อแก้วหู ซึ่งเวลาที่เราดำน้ำแต่ละที ระดับของการดำลึกไปในน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 3 เมตรเป็นอย่างต่ำ เอาแค่ในระดับ 3 เมตรความดันอากาศก็จะไม่เท่าบนบกแล้วนะ ยิ่งลงลึกแรงดันอากาศจากภายในยิ่งเยอะ เจ้าแรงดันอากาศนี่แหละที่มันส่งผลต่อช่องว่างภายในร่างกายของนักดำน้ำทุกคน เช่น รูหู โพรงจมูกไซนัส ซึ่งเวลาลงน้ำลึกเจ้าโพรงในร่างกาย จะมีความดันอากาศน้อยกว่าภายนอก พอความดันภายนอกมากขึ้นก็จะทำให้เรามี อาการเจ็บหู ซึ่งอาการนี้เป็นสิ่งที่นักดำน้ำทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือระดับแชมป์โลกก็โดนหมด แต่มันจะมีวิธีแก้ไขอยู่ ซึ่งเราจะเรียกวิธีการนี้ว่า การเคลียร์หู
ฝึกเคลียร์หูที่ระดับความลึกเกือบๆ 5 เมตร
การเคลียร์หู เป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดของนักดำน้ำ ด้วยในโพรงหูเราทุกคนจะมีเยื่อแก้วหู เมื่อดำน้ำลงไปลึกๆ ความดันอากาศก็จะแตกต่างจากบนบก บางคนลงไปแค่ 2 เมตรก็รู้สึกตึงหรือเจ็บหูแล้ว หนักกว่านั้นก็จะปวดหัว ปวดขมับไปอีก การเคลียร์หูเป็นสิ่งสำคัญกับนักดำน้ำทุกคน ถ้าเราไม่เคลียร์หูให้เรียบร้อย อาจจะเกิดอันตรายไปถึงขั้น แก้วหูทะลุ เลยก็มี ดังนั้นเพื่อให้การดำน้ำเป็นไปอย่างราบรื่น นักดำน้ำจึงต้องทำการเคลียร์หูให้เป็น ฝึกเคลียร์หูให้ได้ ซึ่งวิธีการเคลียร์หูมีอยู่หลายวิธีนั่นก็คือ
- Valsava Maneuver วิธีการคือ บีบจมูกแล้วหายใจออก ด้วยที่เราปิดปากและบีบจมูกไว้ลมจะดันไปออกที่หู วิธีนี้คือวิธียอดฮิตที่ทุกโรงเรียนจะสอนให้มือใหม่ แต่ก็จะมาพร้อมคำเตือนคือ อย่าทำบ่อยและอย่าทำแรง บางคนทำแรงมากก็ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ อีกประการหนึ่งคือวิธีนี้เป็นวิธีที่เราจะใช้อากาศภายในตัวร่างกาย ยิ่งทำบ่อย ทำแรง ก็ยิ่งเปลืองอากาศที่เราเก็บไว้ตั้งแต่ตอน Final Breathing นั้นเองจ้า
- Toynbee Maneuver วิธีนี้คือ การบีบจมูกและกลืนน้ำลายไปพร้อมๆ กัน การกลืนจะช่วยเปิดท่อยูสเตเชียนและลิ้นจะอัดอากาศเข้าไป วิธีนี้ไม่เปลืองอากาศในตัว แต่ในบางคนก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไหร่
- Frenzel Maneuver ทำโดย การบีบจมูก ดันลิ้นไปด้านหลังติดลำคอ และพยายามออกเสียงตัว K ถ้านึกไม่ออกก็ลองออกเสียง เคอะ ดูน่าจะเข้าใจมากขึ้น วิธีนี้ช่วยดันกล้ามเนื้อลำคอให้เปิดท่อยูสเตเชียนและอัดลมเข้าไป
- Lowry Technique คือ การทำทั้งวิธี Valsalva และ Toynbee พร้อมกัน ขณะที่ปิดจมูก เป่า และกลืนในเวลาเดียวกัน อาจจะงงๆ หน่อยแต่ก็ลองฝึกดูก็น่าจะเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำน้ำ
- Edmonds Technique ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและคอ ให้ทำการ ดึงกรามลงมาด้านหน้าและด้านล่าง ขณะที่ทำ Valsalva Maneuver
- Voluntary Tubal Opening คือ การเกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและกล้ามเนื้อคอ ขณะที่ดันกรามไปด้านหน้าและด้านล่าง คล้ายๆ กับการเริ่มต้นหาว กล้ามเนื้อดังกล่าวจะดึงท่อยูสเตเชียนให้เปิด วิธีนี้ต้องใช้การฝึกฝนมาก แต่เมื่อควบคุมได้แล้วจะสามารถเปิดท่อยูสเตเชียนไว้ได้เป็นเวลานานสำหรับการปรับแรงดันอย่างต่อเนื่อง
แต่ถ้าให้แนะนำ วิธีกลืนน้ำลายหรือขยับขากรรไกรเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และง่ายมากสำหรับบางคน ลองทำกันดู เผื่อว่าเราอาจจะจัดเป็นกลุ่มคนประเภทนี้ ถ้าใช่ชีวิตคุณเหมือนถูกหวยอ่ะ บอกเลย
เคลียร์หูให้อากาศเข้าไปในท่อยูสเตเชียน เพื่อเป็นการปรับความดันอากาศทั้งภายในและภายนอกให้สมดุล
สำหรับบางคนอาจจะเคลียร์หูได้แค่ข้างใดข้างหนึ่ง มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เพราะร่างกายเราก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด ลองใช้วิธีส่ายหัว เอียงซ้าย เอียงขวา ข้างไหนไม่ออกก็เอียงไปข้างนั้น ก็ได้ผลเช่นกัน และเพราะร่างกายที่แตกต่างกันนั้นอาจจะทำให้เวลาดำน้ำ บางคน 3 เมตรยังไม่รู้สึกเจ็บ แต่บางคน 1 เมตรก็เจ็บแล้ว บางคนลองในสระว่ายน้ำเคลียร์ได้สบาย แต่พอไปลงทะเลแค่นิดเดียวก็เจ็บไม่ไหว ใจเย็นๆ กันก่อนอย่าเพิ่งท้อไป
สมมติลงไป 3 เมตรแล้วเจ็บ เคลียร์หูไม่ได้ ก็ให้ยูเทิร์น กลับมาตั้งหลักที่ 2 เมตรก่อน หรือถ้าใครเจ็บจนทนไม่ไหว มีอาการปวดหัว ให้ขึ้นมาพักที่ผิวน้ำก่อน อย่าฝืน มันจะเกิดอันตรายได้ การเคลียร์หูเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกได้ ให้เราค่อยเป็นค่อยไป อย่างเราช่วงแรกๆ ที่ลงน้ำเราก็เคลียร์หูไม่ได้เช่นกัน แต่พอลงน้ำบ่อยๆ มันก็ดีขึ้น ยิ่งลงบ่อย ฝึกบ่อย ก็จะเกิดการพัฒนาแน่นอน
อ่อ แล้วทุกคนรู้ไหมชาว Scuba ก็ต้องเคลียร์หูเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าพวกเขาจะเคลียร์กันง่ายกว่า ด้วยเพราะ Scuba เขาจะค่อยๆ ไต่ระดับความลึกลงไปทีละนิด จึงทำให้ชาว Scuba มีเวลาในการปรับระดับความดัน จะแตกต่างกับ Freedive ที่ก็จะพุ่งลงไปที่ 3 - 5 เมตรเลย ชาว Freedive จึงควรจะเคลียร์หูซะตั้งแต่เนิ่นๆ ทันทีที่ Final Breathing เสร็จ ทันทีที่ Duck dive ลงไป ยิ่งเคลียร์หูได้เร็วก็จะไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ทรมาน การดำน้ำก็จะยิ่งฟินมากขึ้น
ภาพ Freediver ที่กำลังเคลียร์หูขณะดำน้ำ โดยอาศัยบีบจมูกช่วยด้วย
อาการ Black out อาการที่พบได้ในนักดำน้ำ
"เก่งแค่ไหนก็พลาดได้"
🤿
แน่นอนว่ากิจกรรมทุกๆ อย่างมีโอกาสเกิดอาการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุได้ การดำน้ำเองก็เช่นกัน ถ้าเราได้ลงเป็นคอร์สเรียนอย่างจริงจังครูฝึกมักจะพูดถึงอาการ Black out ให้ได้ยินกันบ่อยๆ ครูจะย้ำว่าขึ้นสู่ผิวน้ำแล้วอย่าลืม Recovery Breathing บ้าง เวลาดำน้ำก็อย่าฝืนตัวเองมากไปบ้าง หรือเวลาฝึก Final Breathing เสร็จแล้วควรจะพักไม่ควรฝึกติดๆ กันบ้าง นั่นก็เพราะมันจะทำให้เกิดอาการ Black out ได้นั่นเอง
Black out คือ อาการหมดสติ จากการที่สมองขาดอ๊อกซิเจน แน่นอนว่าเวลาที่เหล่า Freediver ทั้งหลายกลั้นหายใจในน้ำ ยิ่งกลั้นหายใจนานแค่ไหน ปริมาณออกซิเจนก็จะน้อยลงไปเท่านั้น ตรงนี้แหละคือสิ่งที่นักดำน้ำต้องระวังกันให้ดีเลย จริงๆ แล้วอาการ Black out สามารถเกิดได้มีหลายสถานการณ์ เช่น การกลับขึ้นผิวน้ำช้าเกินไปทำ recover breathing ไม่ทัน, Black out ในน้ำลึกระดับ 10 เมตร, Black out ขณะฝึก static apnea และ dynamic apnea ในสระ หรือแม้แต่ฝึกกลั้นหายใจบนบก ก็ทำให้เกิดอาการ Black out ขึ้นได้
เมื่ออยู่ในช่วงที่ร่างกายเริ่มทนไม่ไหว ต้องการออกซิเจน ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญานเตือน โดยเริ่มจากรู้สึกอยากกลืนน้ำลาย ถัดมาคือหน้าแดง และสัญญาณสุดท้ายที่บอกให้เราต้องรีบขึ้นผิวน้ำแล้วคือ อาการกะบังลมกระตุก รวมถึงช่วงท้องจะกระตุก อย่างในบางคนอาจจะไม่เกิด 2 อาการแรก เราก็ยังสามารถดำน้ำตีฟินไปแบบชิลๆ ได้อยู่ แต่พอเกิดอาการกะบังลมกระตุกแล้วควรรีบหันหัวกลับขึ้นผิวน้ำ และต้องไม่ลืมที่จะ Recovery Breathing เด็ดขาด และอย่าลืมส่งสัญญาณ ให้ Buddy รู้ว่าเราโอเคด้วยนะ ที่สำคัญคือควรจะพักสักนิดก่อนจะดำน้ำใหม่อีกครั้ง
Marianna Gillespie นักดำน้ำชาวฝรั่งเศส เกิดอาการ black out ขณะกำลังขึ้นสู่ผิวน้ำ หลังจากพยายามทำสถิติดำน้ำลึกที่ 104 เมตร ในรายการ AIDA Freediving World Championship 2022 งานนี้ทีม Safety divers ช่วยเหลือไว้ได้อย่างปลอดภัย ชมคลิปเต็มๆ คลิก
อาการ Black out เป็นอาการที่เราไม่ควรประมาทเด็ดขาด แม้ในนักดำน้ำระดับโลกก็ล้วนเคยเจอกันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตามยิ่งเราฝึกมากเท่าไหร่ เราก็กลั้นหายใจได้นานขึ้นเท่านั้น มันจะส่งผลให้เจ้าอาการกะบังลมกระตุกเนี่ยมาช้าขึ้น จากเดิมกลั้นหายใจไป 1 นาทีกะบังลมเริ่มกระตุก ถ้าฝึกนานขึ้น อาจจะกลายเป็นกลั้นหายใจ 2 นาที กะบังลมถึงเพิ่งจะกระตุก ก็ถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีมากเลย แนะนำให้เพื่อนๆ ฝึกกันบ่อยๆ รับรองเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแน่นอน
อีกหนึ่ง Black out ที่น่ากลัวมากๆ อย่าง Deep water black out หรือ Black out ในน้ำลึก มันอันตรายมากเลยนะ ด้วยเมื่อเราดำน้ำลึกกว่า 10 เมตร ร่างกายของเราจะมีแรงลอยตัวเป็นลบ แรงโน้มถ่วงก็จะดึงเราลงทะเลเร็วมาก เพราะฉะนั้นเอาแค่ที่ร่างกายเราไหว อย่าฝืนตัวเองมากเกินไปจนไปเกิด Black out ในน้ำลึก ยิ่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วยยิ่งอันตราย และย้ำกันอีกทีว่าไม่ว่าจะดำน้ำรูปแบบใด ตื้น-ลึกแค่ไหน ก็ต้องมี Buddy อยู่ด้วยเสมอนะ
ไปดำน้ำต้องพก Buddy ไปด้วยทุกครั้ง เพื่อคอยสังเกตและช่วยเหลือกัน
💭 เพื่อนๆ น่าจะได้รู้จักกับ Freedive มากขึ้นแล้ว บางคนอาจจะอยากลอง หรือบางคนอาจจะยังรู้สึกตื่นเต้นอยู่ หรือบางคนขอหันไปเอาดีทาง Scuba ก็เอาที่แต่ละคนถนัด ตัวเราเองแรกๆ ก็มองว่า Freedive เป็นกิจกรรมที่ท้าทายตัวเองมาก แต่พอได้ลองแล้วรู้สึกชอบมาก จะเรียกว่ารักเลยก็ได้ เรามอง Freedive ว่าเป็นทักษะหนึ่งของชีวิต ที่อยากจะฝึกให้เก่งขึ้น รู้สึกดีกับสถิติที่ตัวเองทำเพิ่มขึ้นในทุกๆ เมตร รู้สึกภูมิใจที่กลั้นหายใจได้มากขึ้นทุกๆ วินาที และส่วนตัวอยากจะพิชิตให้ได้ในทุก Level ด้วย
ถ้ามองในมุมของกิจกรรมสันทนาการ หรือการท่องเที่ยว Freedive เป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่า สำหรับคนเที่ยวทะเลแล้วอยากจะออกไปดำน้ำตื้น บางหาด หรือบางเกาะอาจจะมีปลา มีปะการังน้ำตื้นให้เราออกไปชมหน้าที่พักได้เลย Freedive จึงเป็นอะไรที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า และตอบโจทย์ความต้องการมากกว่านั่นเอง
ความสวยงาม และความชิวนี้
💙
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ครูสอนดำน้ำ ครูพงษ์ +ครูเตอร์ จากโรงเรียน BigBubble Diving และ deeperblue
โดย Ying
ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨