มือใหม่ต้องรู้ ! "หัวชาร์จรถยนต์ EV มีกี่แบบ" แต่ละแบบต่างกันยังไง เลือกชาร์จแบบไหนถึงจะเวิร์ก ?
โดย : imnat
ปัญหาโลกแตกสำหรับมือใหม่ รวมถึงคนที่กำลังทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากบรรดาฟังก์ชันการใช้งานทั่วไป ระบบภายใน และภายนอกต่าง ๆ แล้ว การชาร์จไฟ ก็เป็นอะไรที่สำคัญมากเช่นกัน
" เพราะถ้ารถไม่มีการชาร์จไฟ ก็จะเสียชื่อของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปในทันที "
ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการชาร์จไฟ ใช่ว่าจะมีแค่การขับรถไปจอดหน้าตู้ชาร์จ ดึงสาย แล้วเสียบสายเข้าไปที่รถของเรากันเสียเมื่อไหร่ แต่มันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มือใหม่อย่างเราควรที่จะต้องรู้กันอีกมาก และของแบบนี้อาศัยฟังคำแนะนำจากคนอื่นอย่างเดียว มันคงจะไม่ได้ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันก็มีสเปกที่รองรับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นแนะนำให้ศึกษารายละเอียด โดยยึดจากรุ่นที่เราใช้ กำลังเล็ง ๆ ไว้ หรือกำลังจะเป็นเจ้าของในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะเป็นการดีที่สุด !
เช็กลิสต์ ✅ สิ่งที่มือใหม่ "ต้องรู้"
เกี่ยวกับกระบวนการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า
ในรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันจะมาพร้อมกับเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเรื่องของกระบวนการชาร์จไฟ ปกติแล้วจะมีเงื่อนไขที่ต้องดูอยู่ 5 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
- ความจุของแบตเตอรี
- ปริมาณแบตเตอรีคงเหลือ
- On-Board Charger
- แหล่งจ่ายไฟ หรือเครื่องชาร์จไฟ
- หัวชาร์จไฟ
ซึ่งเจ้า 5 เงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้สามารถเป็นตัวชี้ชะตาการชาร์จไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของเราในแต่ละครั้งได้ ซึ่งเดี๋ยวเราจะทำการอธิบายไล่ไปทีละเงื่อนไข ทุกคนจะได้ค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปด้วยกัน ถ้างงตรงไหน ขอให้ย้อนกลับมาอ่านทวนใหม่กันอีกรอบ เพราะถ้าทุกคนเข้าใจกันแล้ว จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับรถยนต์ EV ของเราได้ตลอดรอดฝั่งกันเลย 😆
✅ ความจุของแบตเตอรี
ปริมาณความจุของแบตเตอรีที่มีอยู่ในเครื่อง จะสามารถบอกได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าของเรา มีความสามารถในการจุแบตเตอรีได้มาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าแบตเตอรีของเรามีความจุเยอะ ก็จะทำให้เราสามารถใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของเราได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น แต่ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าของเรามีความจุของแบตเตอรีที่น้อย นั่นก็หมายความว่าเราอาจจะต้องเสียเวลาชาร์จไฟเค้าบ่อยหน่อย แต่ถ้ามองภาพตามความเป็นจริง เราว่าคนใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ ก็ไม่น่าจะปล่อยให้รถของตัวเองแบตเหลือน้อยอะไรเทือกนั้นกันอยู่แล้ว ขนาดรถยนต์กินน้ำมันปกติ เกจ์วัดน้ำมันลดลงมาแค่ขีดเดียว หลายคนก็รีบวิ่งแจ้นออกไปเติมน้ำมันที่ปั้มกันแล้ว 😅
✅ ปริมาณแบตเตอรีคงเหลือ
อันนี้ต่อเนื่องมาจากข้อที่ 1 กันเลย เพราะนอกจากความจุของแบตเตอรีที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ปริมาณแบตเตอรีคงเหลือ ณ ขณะนั้นก็เป็นตัวชี้วัดการชาร์จไฟของเราได้เหมือนกัน เพราะถ้า % แบตเตอรีคงเหลือน้อย ก็จะทำให้เราต้องใช้เวลาในการชาร์จไฟเค้ามากกว่า แต่ถ้า % ของแบตเตอรีลดลงไปไม่เท่าไหร่ ระยะเวลาของเราก็จะสั้นลงกว่าเดิม ทำให้เวลาชาร์จ แบตเตอรีมีโอกาสเต็มเร็วกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า คนที่แบตเตอรีคงเหลือน้อยนั่นเอง
✅ On-Board Charger
ยัง ยังไม่พอ นอกจากความจุของแบต ปริมาณแบตเตอรีคงเหลือแล้ว จะบอกว่ากระบวนการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละครั้ง จะถูกควบคุมด้วยตัว On-Board Charger ซึ่งถามว่าไอ้เจ้า On-Board Charger นี้คืออะไร สำหรับตัวนี้หน้าที่ของมันก็คือการ จำกัดปริมาณการไหลของไฟฟ้า ว่ารับได้เท่าไหร่ ซึ่งระหว่างการรับกระแสไฟเข้ามา ตัว On-Board Charger ก็จะทำหน้าที่ในการแปลงไฟจากกระแสสลับ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงไปพร้อมกัน ดังนั้นต่อให้แบตจุจริง แต่ On-Board Charger รับได้น้อย ผลที่ปรากฎออกมาก็เท่ากับว่าระยะเวลาในการชาร์จ / ครั้ง ก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน
แต่ ในกรณีที่รถของเรารับไฟฟ้าเป็นกระแสตรงมาแล้ว On-Board Charger ตัวนี้ก็จะไม่ต้องทำงาน (เพราะว่าไม่ต้องแปลงไฟจากกระแสสลับให้เป็นกระแสตรงแล้ว) ไฟฟ้าจึงสามารถไหลผ่านเข้ามาได้เลย ทำให้ชาร์จไฟได้ไว และเต็มเร็วกว่ารถที่ชาร์จไฟโดยที่ผ่านตัว On-Board Charger อีกที
✅ แหล่งจ่ายไฟ หรือเครื่องชาร์จไฟ
โดยปกติแล้วแหล่งจ่ายไฟ หรือเครื่องชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า จะมีให้ใช้งานด้วยกันทั้งหมด 4 โหมด ดังนี้
- โหมด 1 - ต่อจากปลั๊กไฟบ้าน ถึงรถยนต์โดยตรง
สำหรับการชาร์จไฟด้วยวิธีนี้จะเป็นการชาร์จไฟจากปลั๊กไฟบ้าน เข้าไปยังรถยนต์ไฟฟ้าของเราตรง ๆ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีการใช้อุปกรณ์ควบคุมการอัดประจุไฟฟ้าใดใด ซึ่งการชาร์จไฟโหมด 1 นี้ ถือว่าเป็นการชาร์จไฟที่ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการระเบิดของปลั๊กไฟ และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของเรากันได้เลย นั่นเลยทำให้การชาร์จไฟด้วยโหมด 1 นี้ ไม่อนุญาตให้มีการใช้งานในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมไปถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย - โหมด 2 - ต่อจากปลั๊กไฟบ้าน ถึงรถยนต์โดยตรง แต่มีตัวป้องกัน
สำหรับโหมด 2 นี้ จะมีความคล้ายกับโหมดแรก แต่จุดสังเกตของโหมดนี้ คือ ตัวปลั๊กไฟจะ มีตัวควบคุมและป้องกันติดมากับสาย ซึ่งปกติแล้วตัวสายนี้มักจะแถมมาให้เวลาที่เราซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันอยู่แล้ว ดังนั้นเจ้าสายตัวนี้ทำให้เราสามารถเสียบสายเข้ากับปลั๊กไฟที่บ้านได้ ชาร์จไฟได้ มีความปลอดภัยกว่าโหมดแรก แต่ไม่แนะนำให้ชาร์จด้วยสายนี้เป็นหลัก เพราะตัวชื่อสายของเค้าบอกเอาไว้อยู่แล้วว่า Emergency Charger เพราะฉะนั้นแนะนำให้ชาร์จในเวลาที่ฉุกเฉิน มีความจำเป็นจริง ๆ จะดีกว่า
- โหมด 3 - ต่อจากตู้ชาร์จ Wall Box ที่ติดตั้งตามบ้าน / สำนักงาน
การชาร์จโหมดนี้เป็นการชาร์จที่เราค่อนข้างจะ แนะนำมากกว่าการชาร์จด้วยวิธีอื่น ๆ เพราะข้อดีของมัน คือ มีความเสถียรกว่าการเสียบปลั๊กชาร์จกับไฟบ้านทั่วไป สองคืออุปกรณ์ค่อนข้างมีมาตรฐาน สามารถชาร์จทิ้งไว้ที่บ้าน หรือสำนักงานได้ ที่สำคัญคือประหยัดกว่าการชาร์จไฟตามสถานีชาร์จ ไม่ต้องเสียเวลาขับออกไปตามหาที่ชาร์จ และสำหรับใครที่กลัวว่าถ้าติดตั้งเครื่อง Wall Box แบบนี้ แล้วจะต้องไปทำเรื่องขอที่การไฟฟ้าหรือเปล่า ในกรณีที่ตู้ชาร์จ Wall Box ของเราเป็นแบบเฟสเดียว คือให้กำลังไฟสูงสุดไม่เกิน 7 กิโลวัตต์ สามารถติดตั้งได้เลย ไม่ต้องทำหนังสือขอติดตั้งเพิ่ม
แต่ในกรณีที่เราอยากติดตั้ง Wall Box โดยใช้กำลังไฟมากกว่า 7 กิโลวัตต์ อันนี้จำเป็นต้องทำเรื่องขอกำลังไฟเพิ่ม อย่างถ้าติดตั้ง Wall Box 3 เฟส กำลังไฟที่เราจะได้ นั้นจะมีมากถึง 22 กิโลวัตต์ แต่ทั้งนี้อย่าลืมดูองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น ความจุแบต On-Board Charger ว่ารองรับกำลังไฟได้ไหม ไม่งั้นต่อให้ติดตั้งกำลังไฟมาสูง แต่ On-Board ของเรารับกำลังไฟได้แค่นิดเดียว อันนี้อาจจะสิ้นเปลืองเงินไปเปล่า ๆ - โหมด 4 - ชาร์จผ่านสถานีไฟฟ้าโดยตรง
ข้อดีของการชาร์จแบบนี้ แน่นอนว่าเรื่องระยะเวลาในการชาร์จย่อมน้อยกว่าอยู่แล้ว เนื่องจากเราได้ทำการตัดขั้นตอนของ On-Board Charger ออกไป เพราะเป็นการรับกระแสไฟฟ้าทางตรงมาเลย ไม่ต้องเสียเวลาแปลงกระแสไฟฟ้า ทำให้สามารถชาร์จไฟฟ้าเข้ารถได้ไว เต็มเร็ว เลยทำให้หลายคนสนใจวิธีการชาร์จไฟแบบ 4 นี้กันมาก
แต่ต้องบอกเลยว่าต่อให้การชาร์จไฟโหมด 4 นี้จะดีกว่าก็จริง แต่ก็แนะนำให้ชาร์จเป็นกรณี ๆ ไป ไม่แนะนำให้เลือกเป็นวิธีการชาร์จไฟหลัก เพราะการชาร์จไฟโดยรับกระแสไฟเข้ามาตรง ๆ แบบนี้ จะทำให้แบตเตอรีของเราเสื่อมลงเร็วขึ้น เพราะการชาร์จไฟต่อครั้งนั้นจะใช้กระแสไฟเยอะมากนั่นเอง
✅ หัวชาร์จไฟ
ในส่วนของหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยปกติแล้วจะอิงตามประเภทของไฟฟ้าที่ใช้งานกันในประเทศนั้น ๆ อารมณ์เหมือนหัวปลั๊กไฟที่ใช้งานในบ้านเรา กับในต่างประเทศนั่นแหละ ดังนั้นเราไม่ต้องกังวลว่าถ้าสมมุติเราซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้สักคัน เราจะหาสถานีชาร์จที่มีหัวชาร์จเหมือนกันได้ไหม เราตอบให้เลยว่า มีแน่นอน
สำหรับบ้านเราปกติแล้วหัวชาร์จที่นิยมใช้กันจะมีอยู่ 2 แบบ คือหัวชาร์จที่พบในรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กับอเมริกา กับหัวชาร์จที่พบในรถยนต์สัญชาติยุโรป รวมถึงบ้านเรา โดยหัวชาร์จก็จะถูกแบ่งย่อยออกไปตามกระแสไฟที่ได้รับ ซึ่งก็ได้แก่ หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประเภท AC (กระแสไฟฟ้าสลับ) กับประเภท DC (กระแสไฟฟ้าตรง)
- หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประเภท AC
ถ้าเอาให้นึกภาพตามง่าย ๆ ก็ได้แก่ หัวชาร์จรถยนต์ของโหมด 1 - 3 รวมถึงรถยนต์ประเภท Plug-In Hybrid ที่จะเป็นการ ชาร์จไฟผ่านแหล่งจ่ายไฟอีกที ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ได้รับมาจะเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งจุดสังเกตของการชาร์จด้วยหัวชาร์จไฟประเภท AC นี้คือ ระยะเวลาการชาร์จที่จะช้ากว่า (แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างความจุแบต On-Board Charger รวมถึงกำลังไฟของบ้านนั้น ๆ อีกที)
โดยหัวชาร์จประเภท AC นี้ ถ้าเป็นหัวชาร์จรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กับอเมริกาจะเรียกกันว่า Type 1 จุดสังเกตคือหัวต่อจะเป็นแบบ 5 Pin ส่วนถ้าเป็นหัวชาร์จรถยนต์สัญชาติยุโรป รวมถึงบ้านเรา จะเรียกกันว่า Type 2 จุดสังเกตคือจะมี 7 Pin นั่นเอง
- หัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประเภท DC
สำหรับหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าประเภท DC ก็จะตอบโจทย์สำหรับการชาร์จด้วยโหมด 4 เพราะกระแสไฟฟ้าที่ได้จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ทำให้ชาร์จได้ไว กินเวลาน้อยกว่า แต่ข้อเสียของการชาร์จประเภทนี้ก็คือ มีความเสี่ยงที่จะทำให้แบตเสื่อมเร็ว ในส่วนของหัวชาร์จก็จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ โดยแบ่งตามสัญชาติรถยนต์เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือไม่ได้ชื่อ Type 3 - 4 แล้ว 😅
อย่างถ้าเป็นหัวชาร์จ DC ที่เป็นหัวชาร์จของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กับอเมริกาจะเรียกกันว่า CHAdeMO จุดสังเกตคือจะมีรูเล็ก รูน้อยเยอะมาก แต่ถ้าเป็นหัวชาร์จของรถยนต์สัญชาติยุโรปกับบ้านเราก็จะเป็นหัวชาร์จ CCS2 จุดสังเกตคือจะยกเอาเต้าของตัว Type 2 มาผสมกับรูชาร์จใหม่ 2 Pin หน้าตาเลยจะมีความละม้ายคล้ายเดิม แต่เพิ่มเติมคือ 2 Pin ด้านล่างนั่นเอง
สรุปมาให้แล้ว ! การชาร์จไฟแบบ AC & DC
ต้องเลือกแบบไหนถึงจะตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า !
โดยปกติแล้วในรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จะมีช่องชาร์จไฟที่รองรับการชาร์จทั้งระบบ AC และ DC อยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่ารถยนต์คันนั้นของเราเป็นรถยนต์แบบ PHEV หรือ Plug-In Hybrid ที่จะมีแค่ช่องเสียบแบบ AC
ซึ่งก่อนที่เราจะเลือกวิธีการชาร์จไฟ อันดับแรกเราต้องดูก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าของเรามีหัวชาร์จแบบไหน Type 1, Type 2, CHAdeMo หรือว่า CCS2 เมื่อรู้กันแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าของเรารองรับหัวชาร์จแบบไหน ขั้นตอนต่อไปก็ได้เวลาเลือกการชาร์จกันบ้าง ว่าควรชาร์จแบบ AC (กระแสสลับ) หรือ DC (กระแสตรง) ดี ?
- การชาร์จแบบ AC (ไฟฟ้ากระแสสลับ) - ข้อดีของมันคือไม่ทำร้ายแบต มีความเสถียร โดยเฉพาะถ้าเป็นโหมด 3 แต่อาจจะมีข้อเสียอยู่นิดนึงตรงที่ว่า ระยะเวลาในการชาร์จ / ครั้ง อาจจะกินเวลาเยอะกว่าแบบ DC ดังนั้นมันเลยตอบโจทย์สำหรับการชาร์จทิ้งไว้ข้ามคืน ตื่นมาก็เต็มพอดี สามารถขับรถออกไปทำงานต่อได้แบบชิล ๆ
- การชาร์จแบบ DC (ไฟฟ้ากระแสตรง) - ข้อดีของมันก็เห็น ๆ อยู่แล้วตรงที่ความเร็ว เลยตอบโจทย์สำหรับการชาร์จไฟแบบฉุกเฉิน คือไฟใกล้จะหมดแล้ว คงกลับไปชาร์จที่บ้านไม่ทันแน่ ๆ ก็สามารถใช้การชาร์จแบบนี้ชั่วคราวได้ หรือในกรณีที่ต้องเดินทางไกล ก็สามารถอัดชาร์จด้วยวิธีนี้ก่อนออกสตาร์ทก็ได้เหมือนกัน
แต่ข้อเสียของการชาร์จแบบนี้คือ ไม่แนะนำให้ชาร์จบ่อย เนื่องจากมันกินกระแสไฟมาก อาจส่งผลทำให้แบตเตอรีของเราเสื่อมได้ หรือเอาง่าย ๆ ว่าทำร้ายแบตนั่นแหละ ดังนั้นถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชาร์จไฟแบบเร่งด่วน ก็แนะนำให้หนีไปชาร์จแบบ AC ในโหมด 3 ก็จะเป็นการดีที่สุด 😉
แต่หลายคนมักจะชอบกังวลเรื่องของการชาร์จช้า - ชาร์จเร็ว เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้หนีไปซบอกการชาร์จแบบ DC กันยกใหญ่ ซึ่งจริง ๆ แล้วปัจจัยที่ส่งผลทำให้รถของเราชาร์จช้า - ชาร์จเร็ว ไม่ได้อยู่ที่วิธีการชาร์จเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความจุแบต จำนวนแบตคงเหลือ ความจุของ On-Board Charger กำลังไฟที่ตัวชาร์จรับได้ (กรณีชาร์จแบบ Wall Box) เพราะถ้าเป็นไฟบ้าน โดยปกติแล้วจะรับได้แค่ 1 เฟส เลยทำให้อาจจะชาร์จนานกว่าบ้านที่มีไฟ 3 เฟส ซึ่งมีกำลังส่งที่มากกว่าถึง 3 เท่า !
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน มีสเปกที่ยิบย่อย แถมยังต่างกันมาก ๆ ดังนั้นอย่ามัวแต่โทษนู้น โทษนี่กันอย่างเดียว หันกลับมาดูสเปกรถของตัวเองกันด้วยว่ารับได้สูงสุดแค่ไหน หน้างานจริงก็รับได้แค่นั้นแหละ ไม่ว่าจะชาร์จแบบ AC หรือว่า DC ก็ตาม
💭 โดยปกติแล้วพวกรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ เราจะสามารถหาดูได้ตามโบรชัวร์ของค่ายรถยนต์ที่เราสนใจ โดยเค้าจะมีการคำนวนให้คร่าว ๆ ว่าถ้าแบตเตอรีลดลงอยู่ที่ 0% จะใช้เวลากี่ชั่วโมงถึงจะชาร์จได้เต็ม 100% ฯลฯ เราถึงอยากให้ทุกคนศึกษารายละเอียดโดยยึดจากรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ตัวเองใช้ หรือสนใจกัน เพราะจะเห็นภาพได้ง่ายกว่า และการศึกษาเรื่องระบบการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นอะไรที่ควรทำ ยังไงก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยไขข้อสงสัย เพิ่มความกระจ่างเกี่ยวกับกระบวนการชาร์จไฟ และหัวชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าให้กับทุกคนกันได้น้า
อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่
- ไม่เจ๋งจริง ทำไม่ได้ ! Nikola Tesla นักประดิษฐ์สุดอัจฉริยะในตำนาน ที่มาของชื่อรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา
- ราคานี้มีที่มา ! ไขข้อสงสัย "ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าถึงแพง ?"
- แจกพิกัด "จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทั่วไทย" ใกล้ที่ไหน เซฟเก็บไว้เลย
- เปิดขั้นตอน "ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานี" ยุ่งยากไหม มีอะไรที่มือใหม่ต้องรู้บ้าง ?
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ