ชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหน? ช่วงวิกฤติแพร่ระบาดของไวรัส "COVID-19"
โดย : MilD
ไวรัส COVID-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลกใบนี้
ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว แม้แต่ภาคธุรกิจก็ยังต้องทำ
ไมว่าจะเป็น Work From Home หรือ Social Distancing
เราจะต้องผ่านพ้นวิกฤติครั้งสำคัญนี้ไปให้ได้อย่างปลอดภัย
Highlight ของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากไวรัส COVID-19
• ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เริ่มระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 63 และกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยผู้ติดเชื้อกลายเป็นพาหะ ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสกัน
• ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก ต้องปรับตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่สามารถหายใจได้เต็มปอด อีกต่อไป ทุกคนล้วนใส่หน้ากาก(อนามัย)เข้าหากัน และร้ายแรงถึงขั้นต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน เพื่อให้รอดพ้นจากเจ้าเชื้อไวรัสร้ายแรงตัวนี้
• นอกจากประชาชนคนทั่วไปจะต้องปรับตัวแล้ว ภาคธุรกิจก็ต้องทำด้วยเหมือนกัน เพราะมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเดินหน้าต่อไปไม่ได้ก็ต้องปิดตัวในที่สุด
แยกตัวเองจากโลกภายนอก อดทนอีกนิดเดียว!
เธอยังสบายดีมั้ย? เธอเบื่อเกินไปรึป่าว? คงจะเป็นคำถามที่หลายคนตอบยากเหลือเกิน ตอนนี้ใช้ชีวิตลำบากซะเหลือเกินต้องอยู่บ้านแทบทั้งวัน นี่คือสิ่งที่เราทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรักษาสุขภาพของตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป ออกไปข้างนอกตอนนี้มันเสี่ยงเหลือเกินนะแม่ คนเคยต้องตื่นเช้าออกไปทำงาน กว่าจะกลับบ้านก็มืดแล้ว กลับต้องมาอยู่บ้านตลอดทั้งวัน เป็นใครก็ต้องไม่ชินเป็นธรรมดา แต่เราต้องยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ เบื้องต้นอาจจะประมาณ 14-20 วัน แต่เราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะต้องอยู่บ้านระยะเวลาเป็นเดือนๆ เลยก็ได้ และทางรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) เพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นไป ในช่วงเวลานี้ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด!
จากที่เคยออกไปเดินเล่นช้อปปิ้งเพลินๆ ตามห้างสรรพสินค้า ก็ลองเปลี่ยนมาช้อปออนไลน์แทนดีมั้ย ไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดเชื้อ กดสั่งง่ายๆ ได้เลย พร้อมจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้าน ชิลไปอีก หรือถ้าปกติต้องออกไปกินข้าวกับเพื่อนสังสรรค์เฮฮากันเป็นประจำ ช่วงนี้ก็ห่างกันสักพัก ต่างคนต่างสั่งอาหารมาที่บ้านแล้ว Video Call กินมื้อนั้นด้วยกันแทน ถึงแม้จะอยู่ห่างกันก็ไม่เป็นไร
ในอีกมุมกลับทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น แม้ว่าไวรัสจะกัดกินปอดของเรา แต่ไม่สามารถทำลายความรักของคนในครอบครัวได้ และทำให้เราเห็นคุณค่าของคำว่า "ครอบครัว" มากขึ้นกว่าเดิมอีก ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยคือคู่ของดารา "แมทธิว-ลิเดีย" ที่จะร่วมต่อสู้เชื้อไวรัสไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง
Work From Home WFH อย่าอ่านผิดเป็น WTF
ช่วงเวลานี้พนักงานมนุษย์เงินเดือนก็ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่เลย เพราะจะเดินทางไปทำงานก็กลัวติดเชื้อไวรัส COVID-19 หลายบริษัทเลยเริ่มทำงานแบบ Work From Home คือถึงจะอยู่บ้านก็ทำงานได้ ไม่ต้องออกมาข้างนอก ติดต่อกันผ่านทางแอปพลิเคชั่นโดยใช้การ Call หรือ Video Call เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานแทน เพราะตอนนี้ความปลอดภัยของพนักงานถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารจะต้องนึกถึง ลองคิดดูว่าเกิดมีพนักงานคนนึงติดเชื้อขึ้นมา แล้วเกิดแพร่กระจายไปทั่วทั้งออฟฟิศแล้ว จะเกิดอะไรตามมาบ้าง วุ่นวายยิ่งกว่าเดิมไปอีก หลายองค์กรใหญ่ๆ ของประเทศก็เริ่มนำ Work From Home มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น AIS, dtac, TRUE, PTT, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ Grab เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่เริ่มใช้ก็จะเป็น Back Office หรือสำนักงานใหญ่ที่สามารถทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้นั่นเอง
(Video Call กันในช่วงเวลาทำงานให้เหมือนทำงานอยู่ออฟฟิศ)
Work From Home ถือเป็นทางรอดขององค์กรธุรกิจเช่นเดียวกัน เพราะถ้ายังติดภาพการทำงานเดิมๆ ที่ต้องเดินทางมาออฟฟิศเพียงอย่างเดียว ในเวลานี้ก็คงเดินหน้าต่อไปได้ยาก พนักงานคงไม่เสี่ยงชีวิตว่าจะติดเชื้อรึป่าว เพื่อมาทำงานอย่างแน่นอน แต่ในอีกแง่นึงคนทำงานก็ต้องปรับตัวเพื่อปรับการทำงานเป็น Work From Home ด้วยเช่นกัน เหมือนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งองค์กรและตัวพนักงานเอง อาจจะเป็นครั้งแรกของทุกคน แต่ถ้าลองทำแล้วเกิดเวิร์กขึ้นมา งานออกมามีประสิทธิภาพกว่าเดิม อาจจะเปลี่ยนแนวทางการทำงานในอนาคตเลยก็เป็นได้
อันนี้ขอฝากไว้หน่อย "WFH ไม่ใช่ WTF" นะจ๊ะ ขอย้ำเลย หลายคนมีภาพจำพอเห็นตัวอักษร W กับ F นิดนึง อีกคำก็จะลอยมาในหัวเลย ซึ่งความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยนะ WFH ย่อมาจาก Work From Home เน้อออ~
Social Distancing เพิ่มระยะปลอดภัยให้กับชีวิต
"ระยะห่างทางสังคม" หรือ Social Distancing เคยถูกใช้มาแล้วในอดีตเมื่อมีการติดต่อของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นโรคระบาดในวงกว้าง และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนใกล้ตัวเราติดเชื้อไวรัส COVID-19 รึป่าว บางครั้งตัวเค้าเองอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ การเพิ่มช่องว่างระหว่างกันจึงเป็นทางเลือกที่หลายแห่งใช้ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสในตอนนี้ เวลาเราไปเดินซื้อของช้อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไปร้านอาหารชั้นนำ สังเกตบริเวณพื้นก็จะเห็นสัญลักษณ์ทำไว้เป็นจุดพักคอยให้ห่างจากคนข้างหน้า ไม่ให้อยู่ใกล้กันจนเกินไป หรือพนักงานส่งอาหารเวลาไปรอรับอาหารก็ต้องนั่งคอยห่างกันกว่าเดิม แม้แต่รถไฟฟ้าที่ช่วงเวลาปกติอัดแน่นไปด้วยผู้คนจนแทบไม่มีที่ยืน ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้โดยสารแล้ว
(ขอบคุณภาพประกอบจาก FB: Foodland Supermarket)
แม้แต่โรงภาพยนตร์ที่ปกติจะต้องนั่งติดกัน กั้นกลางด้วยที่วางแขนอย่างเดียว ก็ตอบรับกับ Social Distancing ด้วยเช่นกัน โดยเว้นที่นั่งห่างกันทุก 2 ที่นั่ง และนั่งแถวเว้นแถว ซึ่งเป็นมาตรการขั้นสูงสุดในการป้องกันไวรัส COVID-19 ก่อนจะปิดให้บริการชั่วคราวตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐ
(ขอบคุณภาพประกอบจาก FB: Major Group)
(ขอบคุณภาพประกอบจาก FB: CentralPlaza Pinklao)
ถ้าทุกคนรักษาระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะลดลงได้อย่างแน่นอน เพราะคนที่ติดเชื้อไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้แล้ว "ยิ่งห่าง ยิ่งปลอดภัย"
นอกจากการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการใช้ชีวิตจริงแล้ว ลองมาดูบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ได้มีการนำระยะห่างมาใช้กับแบรนด์ (Brand Image) ด้วย แอดขอตั้งชื่อเองเกร๋ๆ เอาเองว่า Social (Media) Distancing โดยการเพิ่มช่องว่างระหว่างโลโก้แบรนด์ให้มากขึ้นกว่าเดิม เป็นแคมเปญในเชิงสัญลักษณ์ที่กระตุ้นความคิดของคนที่ใช้งาน Facebook, Twitter, Instagram หรือ Youtube ให้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วย
ตัวอย่างแบรนด์ที่นำ Social Distancing มาใช้กับ Brand Image
ถึงธุรกิจจะใหญ่แค่ไหน ถ้าไม่ปรับตัวก็ไม่รอด
ไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรหรือธุรกิจทุกแห่งก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน บางสถานที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวเพราะมองว่าเสี่ยงติดเชื้อไวรัส เพราะมีคนจำนวนมากมารวมตัวในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะร้านอาหารที่ให้คนมาทานที่ร้าน ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวการดำเนินธุรกิจใหม่ทั้งหมด มุ่งสู่ตลาด Delivery แบบ 100% ใครที่มีแพลตฟอร์มรองรับหรือเป็นพันธมิตรกับแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารอยู่แล้วก็สบายกว่าคนอื่นไปได้เยอะเลย แต่บางร้านก็ไม่สามารถทำเป็น Delivery ได้ ก็ต้องปิดร้านไปโดยปริยาย
ลองมองยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านอาหารในไทย อย่าง MK Restaurant ซึ่งมีรายได้เป็นหลักพันล้านบาทต่อปี ก็ยังต้องปรับตัวเลย เพราะปกติเวลาเราไปกินสุกี้ ก็ต้องนั่งทานที่ร้าน แต่ตอนนี้ไม่สามารถเปิดร้านขายได้แล้วจะทำยังไงดี? เจาะตลาด Delivery ไปเลย อัดโปรแรงที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่แน่ว่ายอดขายอาจจะโตกว่าช่วงเวลาปกติก็เป็นได้นะ เพราะคนแห่กันสั่งอย่างล้นหลามมากจ้าแม่ นอกจากได้ยอดขายแล้ว ภาพลักษณ์ของแบรนด์ต่อสังคมก็ดีขึ้นอีกต่างหาก ยอมใจ MK เค้าเลย
ลองมองย้อนไปที่ธุรกิจ "ศูนย์การค้า" กันบ้าง หลังมีคำสั่งปิดให้บริการในจังหวัดที่มีผลบังคับใช้ ก็ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนลานอีเวนต์ ซึ่งปกติจะจัดกิจกรรมโปรโมชั่น กลายเป็นโต๊ะจัดเรียงกันของร้านอาหารต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ซึ่งรอรับคำสั่งซื้อจากประชาชนทั่วไปที่มาซื้อกลับบ้าน (Take Away) และพนักงานส่งอาหารแทน กลายเป็นภาพที่แปลกตาอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาลำบากแบบนี้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวหมด ทั้งศูนย์การค้าเอง ร้านอาหารต่างๆ รวมถึงพนักงานก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่ก็ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย
(ขอบคุณภาพประกอบจาก FB: CentralPlaza Pinklao)
ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ อยู่ที่เราจะคว้าไว้มั้ย
แม้ว่าวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ผู้คนทั่วโลกหลีกเลี่ยงการเดินทางระหว่างประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงอย่างหนัก ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ ถูกสั่งปิดเกือบเดือน และก้ยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะได้เปิดจริงมั้ย เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความยืดเยื้อและไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ หลายคนต้องตกงาน เพราะธุรกิจไปต่อไม่ได้แล้ว ถูกเลิกจ้างเป็นคนว่างงาน ไปต่อไม่ถูกเลยว่าจะเดินไปทางไหนดีในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ แต่ถ้าเรารู้จัก "การปรับตัว" อย่างรวดเร็ว และมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อผู้คนจำนวนมากกักตัวเองอยู่ที่บ้านตามคำสั่งของหน่วยงานภาครัฐ หรือต้องทำงานที่บ้านแทน (Work From Home) เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนจำนวนมาก เกิดความต้องการสั่งสินค้าและจัดส่งถึงบ้าน (Delivery) มากขึ้นหลายเท่าเลย ทำให้ Supply ของพนักงานส่งสินค้าไม่เพียงพอ CP ALL ผู้ดูแลธุรกิจร้าน 7-Eleven ในประเทศไทย ได้ประกาศรับสมัครงานเพิ่มถึง 20,000 ตำแหน่ง เพื่อให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อที่สูงขึ้นเป็นพิเศษในช่วงนี้ แม้ว่าหลายธุรกิจจะประสบปัญหาแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องปิดตัวไป แต่ถ้าเราไม่ปิดกั้นตัวเอง และมองในอีกมุมนึงว่านี่เป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ อาจจะเหนื่อยกว่าคนอื่น แต่เราก็ได้มากกว่าคนอื่นเช่นกัน เหมือนคำกล่าวที่ว่า "ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน"
นอกจากนี้ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาทองของพนักงานส่งอาหาร หรือพนักงานส่งสินค้าเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น LINE Man, Grab, Get หรือ Foodpanda คำสั่งซื้อเข้าไม่หยุดตลอดทั้งวันแน่นอน ผู้คนไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ เค้าเหล่านี้กลายเป็นฮีโร่ของใครหลายคน แต่มากกว่าความเป็นผู้ช่วยทุกมื้ออาหารแล้ว พวกเค้าก็ได้เงินเยอะขึ้นตามไปด้วย ช่วงเวลาปกติคงได้ไม่เยอะเท่านี้นะเออ
(ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Grab)
• ถ้าเป็นคนที่ยังทำงานอยู่ ก็ใช้เวลาในแต่ละวันกับการทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะโชคดีแค่ไหนแล้วที่ยังได้เงินเดือน ยังมีงานทำอยู่ตอนนี้ ก็ต้องทำงานให้เต็มที่เพื่อองค์กรของเราด้วย ให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าผ่านพ้นเวลานี้ไปให้ได้
• ถ้าเป็นคนที่ต้องตกงาน หรือโดนเลิกจ้าง ไม่มีงานทำก็อย่าหวังพึ่งคนอื่น เราต้องลุกขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเราเอง
เราต้องผ่านเวลายากลำบากไปให้ได้!
รู้จักเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง และปรับตัว จะช่วยให้เราอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3