สำรวจเทรนด์ "Buy Now, Pay Later" หรือ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง กับเงื่อนไขที่อาจทำให้วงการบัตรเครดิตมีหนาว !
โดย : imnat
ในฐานะสายช็อปอย่างพวกเรา ต้องบอกเลยว่ารูปแบบการช็อปสมัยนี้มี ลูกเล่นใหม่ๆ ถูกปล่อยออกมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นเรื่องของแคมเปญช็อปปิ้ง รูปแบบของการทำโปรโมชั่น สิทธิพิเศษ รวมถึงวิธีการจ่ายเงินต่างๆ...
ก็เหมือนกับสำนวนที่เราเคยได้ยินกันมานั่นล่ะ กับคำกล่าวที่ว่า เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยน อะไรๆ ก็ย่อมเปลี่ยน ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบรูปแบบการซื้อของตอนนี้ กับในช่วงก่อนหน้านี้สัก 10-15 ปีกันดูสิ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมมากแค่ไหน
อย่างก่อนหน้านี้ กว่าจะซื้อของได้สักชิ้นก็มีเฉพาะแค่วิธีการจ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น พอเริ่มมีบัตรเครดิต รวมถึงเดบิตเข้ามา สภาพคล่อง รวมถึงความสะดวกสบายทางการใช้เงินของเราก็ค่อยๆ เป็นไปในทิศทางดีขึ้น จนตอนนี้นอกจากรูปแบบการจ่ายเงินเบสิคต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว ยังมีรูปแบบการจ่ายเงินใหม่ๆ งอกตามมาอีกเพียบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้รวมไปถึงรูปแบบการชำระเงินที่เรียกว่า Buy Now, Pay Later หรือภาษาไทยเราเรียกกันว่า ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง นั่นเอง
Buy Now, Pay Later คืออะไร ?
ง่ายๆ เลย ก็คือ "Buy Now, Pay Later หรือ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" เป็นรูปแบบของการชำระเงินค่าสินค้าและบริการที่มีความคล้ายคลึงกับบัตรเครดิต คือเป็นการแบ่งชำระค่าสินค้าเป็นงวดๆ ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ทีเดียวตั้งแต่แรก ทำให้เราสามารถซื้อของได้ก่อน แล้วค่อยชำระเงินตามมาในภายหลัง โดยส่วนมากจะมีกำหนดชำระตั้งแต่ 1 เดือน ไปจนถึง 3 เดือน (มากกว่านี้ก็มีขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ) ซึ่งในระหว่างนั้นจะไม่มีการคิดดอกเบี้ยใดใด
" ที่สำคัญจะบอกว่ารูปแบบการชำระเงินนี้ มีความยืดหยุ่นสูงมาก
แถมเราสามารถเลือกจ่ายเงินด้วยวิธีไหนก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นเงินสด, เช็ค, บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต "
สำหรับขั้นตอนการทำงานของรูปแบบ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง จะเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เราตัดสินใจว่าจะซื้อของชิ้นใดชิ้นหนึ่งแล้ว ทางผู้ให้บริการก็จะทำการชำระค่าสินค้า ในนามของเรา ไปให้ก่อน แล้วค่อยทยอยเก็บจากเราตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งระยะเวลาอย่างที่บอกไปก็มีตั้งแต่ 1 เดือน ไปจนถึง 3 เดือน โดยในต่างประเทศรูปแบบการชำระเงินนี้ได้รับความนิยมมากๆ และมีแนวโน้มว่าจะตีคู่สูสีมากับรูปแบบการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งถ้าเราดูกันดีๆ ทั้งสองรูปแบบนี้แทบจะไม่ต่างกันเลย แต่ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง อาจจะมีข้อดีมากกว่าตรงที่ ความยืดหยุ่นในการชำระเงิน ที่สำคัญ คือ ปลอดดอกเบี้ย เลยทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้จ่ายแบบแบ่งชำระไปแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก และถึงแม้ว่ากระแสความนิยมในบ้านเราตอนนี้อาจจะยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าในอนาคตรูปแบบเกิดบูมขึ้นมาในบ้านเราจริงๆ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งหลายอาจจะมีหนาวกันบ้างล่ะ 😨
| ขยายความกันอีกนิด ที่ว่าต่างจากบัตรเครดิตน่ะ ต่างยังไง?
ที่บอกว่ามีหนาวก่อนหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบการชำระเงินนี้ จะสามารถเอาชนะการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตไปได้ซะทุกอย่างนะ เพราะรูปแบบการชำระเงินแต่ละอย่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยที่ต่างกันออกไป ถ้าจะบอกว่าสามารถใช้แทนกันได้แบบ 100% ทางเราขอตอบก่อนเลยว่า ณ ตอนนี้ยังไม่ใช่ แต่ผู้ใช้บริการอย่างเราจะต้องตัดสินใจชั่งน้ำหนักกันเอาเอง ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราที่ผ่านๆ มา รูปแบบการชำระเงินแบบไหน จะตอบโจทย์ตัวของเราได้มากกว่ากัน
ความต่างระหว่าง Buy Now, Pay Later กับบัตรเครดิต หลักๆ เลยก็คือ...
- BNPL (หลังจากนี้เราขอย่อด้วยคำนี้นะ) ช่วยทำให้เราเข้าถึงเครดิตได้ง่ายขึ้น ง่ายยังไง? อันดับแรกเลย ก็คือ อนุมัติไวกว่าบัตรเครดิตมากๆ ไม่ต้องตรวจสอบเอกสาร หรือข้อมูลเยอะแยะเหมือนบัตรเครดิต
- ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย รวมถึงอิสระในการชำระเงิน โดยปกติแล้วในผู้ที่ใช้งานบัตรเครดิต จะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยมากที่สุดอยู่ที่ 45 วัน แต่ BNPL บางเจ้าอาจมีระยะเวลามากกว่านั้น แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องชำระเงินในจำนวนที่ตกลงกันไว้ และต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นก็จะเจอดอกเบี้ยไม่ต่างกันน้า
- บัตรเครดิต มีอิสระในการใช้จ่ายมากกว่า ย้ำว่าใช้จ่ายนะ เพราะบัตรเครดิตเดี๋ยวนี้ใช้ได้หมดแทบจะทุกร้านแล้ว คือต่อให้ไม่ได้รูดโดยตรง แต่ก็มีแพลตฟอร์มที่เราสามารถนำบัตรเครดิตไปผูก แล้วใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ แทนการรูดบัตรได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น TrueMoney Wallet ซึ่งต่างจาก BNPL ตรงที่ จะต้องเป็นร้านค้าที่เป็นพันธมิตร หรือแพลตฟอร์มที่รองรับการจ่ายเงินแบบนี้เท่านั้นถึงจะสามารถใช้งานได้
- บัตรเครดิตจะมีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมให้กับลูกค้า แต่ BNPL นั้นไม่มี
- ดอกเบี้ย BNPL ถูกกว่าบัตรเครดิต แต่ดอกเบี้ยจะเป็นแบบคงที่ ไม่ได้มีระยะเวลาโปรโมชั่นเหมือนดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่บางทีอาจจะมีการปรับลง หรือปรับให้สูงขึ้น
- BNPL มีช่องทางในการชำระเงินที่หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นเช็ค, เงินสด, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต ฯลฯ ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการนั้นๆ
- BNPL ไม่มีค่าธรรมเนียมให้บริการรายปี รวมถึงค่าธรรมเนียมในการซื้อของ
- BNPL ทำให้เราบริหารจัดการเงินได้ง่ายกว่า เพราะมีสูตรสำเร็จตายตัวในการชำระเงิน โดยปกติแล้วมักจะมีจำนวนยอดชำระที่ชัดเจน ไม่เหมือนกับบัตรเครดิตตรงที่ยอดชำระอาจจะไม่ได้เท่ากันในแต่ละเดือนก็ได้
- BNPL กระตุ้นทำให้เกิดการใช้จ่ายได้เรื่อยๆ เพราะ ไม่มีลิมิตวงเงินเหมือนบัตรเครดิต ซึ่งตรงนี้ก็เป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียนะ เพราะถ้าเราใช้มากเกินไป จากที่บอกก่อนหน้านี้ว่าการบริหารจัดการเงินง่ายกว่า อาจจะกลายเป็นการบริหารเงินไม่ได้เลยก็ได้ ถ้าหากเราใช้กันเพลิน
แต่ใดใดทั้ง 2 รูปแบบการชำระเงินนี้ เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไข หรือข้อตกลงต่างๆ เช่น ไม่มีดอกเบี้ยที่ว่า มีข้อจำกัดไหมว่าขอบเขตของการไม่มีดอกเบี้ยนั้นอยู่ที่ตรงไหน เราจะได้รับรู้และป้องกันไม่ให้ตัวเองเสียรู้ในภายหลัง
| สรุปแล้ว BNPL เหมาะกับกลุ่มลูกค้าแบบไหน ?
ถ้าถามความเห็นของเรานะ เรามองว่า ถ้าเพื่อนๆ มีพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตกันเป็นปกติอยู่แล้ว เราก็แนะนำให้ใช้งานบัตรเครดิตต่อไปจะดีกว่า เพราะถ้ามองเรื่องสิทธิประโยชน์ รวมถึงระยะเวลาการแบ่งชำระนั้นมีมากกว่า BNPL ด้วยซ้ำ ก็จริงอยู่ที่ BNPL ไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย แต่ระยะเวลาในการแบ่งชำระอาจจะมีน้อยกว่า แปลว่าจำนวนเงินก้อนที่เราต้องจ่ายต่องวดอาจจะมีมากกว่าการแบ่งชำระด้วยบัตรเครดิต
หรือถ้าใครจะใช้รูปแบบการชำระเงินนี้ เราแนะนำว่าไม่ควรเป็นจำนวนเงินก้อนที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะใช้ควบคู่ไปกับการรูดบัตรเครดิตด้วยแล้ว ถ้าซื้อของชิ้นเล็กๆ ในราคาไม่แรงมาก อันนี้น่าจะเวิร์คสุด แต่ถ้าเพื่อนๆ ยังไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน บวกกับมีประสบการณ์ด้านการซื้อของแบบแบ่งชำระยังไม่เยอะ เราแนะนำ BNPL อันดับแรกเลยคือเราสามารถจัดระเบียบ รวมถึงวางแผนการเงินของเราได้ สองคืออนุมัติไว ใช้เวลาไม่นานเท่าบัตรเครดิต สามคือมีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับมือใหม่ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่วงการนี้จริงๆ
พอใช้มาไปสักพัก เราอาจจะค่อยๆ ขยับไปใช้งานบัตรเครดิตแทนก็ได้ เพราะเรื่องความคุ้มค่า บวกกับสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตนั้น เรามองว่ามีผลตอบแทนให้กับลูกค้ามากกว่า BNPL หรือถ้าใครจะใช้ควบคู่กันก็ให้บริหารจัดการกันดีๆ เพราะยิ่งเรามีอิสระทางการใช้เงินเท่าไหร่ ยิ่งต้องระวัง มิเช่นนั้นอาจจะก่อหนี้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้นะ !
| แพลตฟอร์ม BNPL ในบ้านเรามีเจ้าไหนบ้าง ?
ถึงแม้ว่าความนิยมของการใช้งานบัตรเครดิตในบ้านเราจะมีมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่า BNPL จะไม่มีให้เห็นกันเลยนะ ที่สำคัญจะบอกว่า BNPL ปรากฏตัวบนแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ในบ้านเราแทบจะทั้งนั้น ไม่รู้ว่าทุกคนเคยสังเกตกันไหม กับบรรดา BNPL เจ้าเด่นๆ ดังนี้
- SPayLater (Shopee) : ประเดิมกันด้วยแพลตฟอร์มที่หลายคนน่าจะหมดเงินกันไปเยอะมากในแคมเปญ 11.11 ที่ผ่านมา ซึ่งจะบอกว่าบริการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ รองรับลูกค้าของ Shopee โดยเฉพาะ กับบริการสินเชื่อวงเงินสูง ในการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบนแอป Shopee โดยมีวงเงินให้มากถึง 100,000 บาท มีกำหนดชำระเงินให้เลือก 2 แบบ คือชำระหลังจากนั้น 1 เดือน หรือผ่อนชำระ 3 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรเครดิต
👀 รายละเอียดเพิ่มเติม > คลิก - Pay Next (TrueMoney Wallet) : สำหรับบริการนี้จากทรูมันนี่ วอลเล็ต ก็อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการผ่านแอปทรูมันนี่ วอลเล็ต ด้วยการให้วงเงินพร้อมใช้งานได้ทันที จำนวน 5,000 บาท (ลูกค้าบัตรทรูแบล็ค และเรดการ์ด ได้วงเงินสูงสุด 10,000 บาท) พร้อมสิทธิ์ผ่อนชำระสูงถึง 5 เดือน ไม่จำเป็นจะต้องมีบัตรเครดิต หรือส่งเอกสารใดๆ เพิ่มเติม
👀 รายละเอียดเพิ่มเติม > คลิก - atome : เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เกิดมาเพื่อรูปแบบการชำระเงินนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญคือเค้ามี Partner เจ้าใหญ่ๆ แท็กทีมด้วยเพียบ ตั้งแต่ Sephora, Agoda, EVEANDBOY, Charles & Keith, GQ และอื่นๆ อีกเพียบ สำหรับรูปแบบการแบ่งชำระจะอยู่ที่ 3 เดือน โดยวงเงินที่มีให้เลือก ก็มีตั้งแต่ 10,000 - 20,000 บาท / ครั้ง เรามองว่าจุดเด่นของเจ้านี้คือเค้ามี Partner ร้านค้าที่ร่วมรายการเยอะนี่แหละ อ้อ รวมไปถึงขั้นต่ำ ก็คือ แค่ 100 บาท ก็สามารถแบ่งชำระได้แล้วอ่ะคิดดู
👀 รายละเอียดเพิ่มเติม > คลิก - LerdBuy : อีกหนึ่งแพลตฟอร์ม BNPL เจ้าใหญ่ในไทย อันนี้จุดเด่นเค้าจะเน้นไปที่ประเภทของสินค้าที่รับชำระ ที่มีความหลากหลายไม่ต่างจาก atome ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ก็มี แถมยังพ่วงมาด้วยสิทธิพิเศษ (ที่ปกติแล้ว BNPL ไม่ค่อยมีข้อเสนอนี้ให้กับลูกค้าเท่าไหร่) แถมงานนี้ช็อปได้แบบสบายใจ เพราะเลิศบายเค้าการันตีว่าได้ของแท้ 100% ทั้งแอปเลย
👀 รายละเอียดเพิ่มเติม > คลิก - Shop Now Pay Later (Grab) : สำหรับเจ้านี้อาจจะไม่ได้ตรงกับ Target พวกเรากันสักเท่าไหร่ แต่ขอหยิบมายกเป็นตัวอย่างเพราะเห็นว่ามันน่าสนใจดี คือบริการนี้เค้า ออกแบบมาเพื่อพี่ๆ คนขับ Grab จ่ะ ด้วยโปรแกรมซื้อโทรศัพท์มือถือสำหรับการให้บริการ Grab ในแบบที่ ช็อปให้ก่อน จ่ายทีหลัง
เพื่อเพิ่มความสะดวกให้พี่ๆ คนขับ โดยรุ่นของโทรศัพท์นั้นทาง Grab จะคัดมานำเสนอให้ทุกเดือน พร้อมโปรโมชันพิเศษ ส่วนระบบการชำระคืน ก็จะตัดจากวอลเล็ทตามระยะเวลาที่ตกลงไว้โดยอัตโนมัติ (แต่ไม่ได้เป็นการบังคับนะ ว่าคนขับ Grab ทุกคนจะต้องใช้บริการนี้) เรามองว่ามันเหมือนเป็นการเพิ่มทางเลือกอีกทางนึงที่โดยส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีอยู่จริงอ่ะ5555 - 👀 รายละเอียดเพิ่มเติม > คลิก
จะบอกว่าเทรนด์การช็อปปิ้งแบบ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเพิ่งจะเป็นที่รู้จักกัน แต่อย่างในต่างประเทศก็ได้รับความนิยมกันพอสมควรเลยนะ ในบ้านเราถึงแม้ว่าสีสันอาจจะยังสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีแนวโน้มความเป็นไปได้นะ ถ้ามีการทำการตลาดมากกว่านี้ เราว่าแนวโน้มน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีเลยแหละ
ซึ่งถ้าในอนาคตมีแพลตฟอร์มแนวๆ เกิดขึ้นในบ้านเรามากขึ้น กระแสความนิยมก็ย่อมเพิ่มตามไปด้วยแน่นอน ส่วนจะสู้กับบัตรเครดิตได้มั้ย อันนี้เรามองว่าคำตอบของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่ถามว่ากระทบกับวงการบัตรเครดิตไหม เราตอบได้เลยว่ากระทบแน่นอน ซึ่งถ้ากระทบมากๆ เราอาจจะได้เห็นสีสันของการทำการตลาดของผู้ให้บริการบัตรเครดิต ที่งัดไม้เด็ดของตัวเองออกมาไฟว์กันสุดฤทธิ์ ส่วนจะอีกนานมั้ยกว่าจะได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ เผลอๆ อาจจะใช้เวลาไม่นานอย่างที่เราคิดก็ได้
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : economictimes.indiatimes.com, techsauce.co, investopedia.com และ forbes.com
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ