เช็คด่วน รถเมล์ร่วมฯ เลิกวิ่ง มีสายไหนบ้างที่บอกลาจากพิษโควิด-19
โดย : MilD
รถเมล์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก
ช่วงเวลาเดินรถทำได้น้อยกว่าเดิม ตามประกาศเคอร์ฟิว
ทำให้รถเมล์ร่วมบริการหลายสาย "เลิกกิจการ" หลังประสบภาวะขาดทุน
Highlight ของรถเมล์ประสบปัญหาภาวะขาดทุน เจ๊งไปหลายสาย
• ไวรัส COVID-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และหนึ่งในธุรกิจที่เจอผลกระทบก็คือ "รถเมล์"
• มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลกับรถเมล์มากเลยทีเดียว เที่ยววิ่งต่อวันลดลง สามารถรับผู้ใช้บริการน้อยลงตามไปด้วย
• จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงและผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รถเมล์เอกชนร่วมบริการหลายสายประสบปัญหาขาดทุน แบกรับภาระไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องหยุดวิ่งไป แล้วผู้โดยสารจะทำยังไงดี?
ระบบขนส่งสาธารณะ ถือเป็นสิ่งจำเป็นของคนทั่วไปที่ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังจำเป็นต้องใช้ชีวิตประจำวันไปกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์วิน หรือรถแท็กซี่ ถ้าเจาะลึกลงไปว่ารูปแบบการเดินทางแบบไหนที่เข้าถึงคนทั่วไปได้มากที่สุด คำตอบก็คือ "รถเมล์" นี่แหละ เพราะถือเป็นขนส่งสาธารณะที่มีราคาถูกที่สุด เริ่มต้นแค่ 8 บาท แพงสุด 25 บาท สมัยก่อนเนี่ยช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น บางทีรถเมล์ขาดระยะ ก็ต้องอัดกันแน่นเป็นปลากระป๋องเลย ก็ถือว่าเป็นชีวิตที่พบเจอกันได้เป็นปกติ แต่เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดแล้ว
...ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป...
ระบบขนส่งสาธารณะ เสี่ยงต่อการติดโรคมากขึ้น
เพราะเราไม่รู้เลยว่าคนที่มาใช้บริการบนรถคันเดียวกันเนี่ย เค้าเป็นยังไง มีอาการป่วยรึป่าว ติดเชื้อไวรัสมามั้ย ยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกมากขึ้นไปอีก ทุกคนตอนนี้ Panic ไปหมดแล้ว ไม่กล้าจับอะไรเลย กลัวความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส COVID-19 ถ้าพูดกันตามตรงแล้วถ้าหากใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าการเดินทางด้วยรถส่วนตัวจริงๆ แหละ
สิ่งที่จำเป็นต้องทำและสำคัญที่สุดก็คือ "สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ" ถ้ามานั่งรถเมล์ นั่งรถตู้ หรือขึ้นรถไฟฟ้าแล้ว รับรองปลอดภัยแน่นอนนะ ได้ทำความสะอาดบริเวณต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เชื้อโรคไม่มีแน่นอน ให้เกิดความเชื่อใจและยังคงเลือกใช้บริการต่อไป คิดดูว่าเจอรถเมล์สภาพเก่าๆ ทรุดโทรมแล้ว มีแต่คราบสกปรกเต็มไปหมด ใครจะอยากมาใช้บริการจริงมั้ย ถึงจะเสี่ยงกว่า แต่รับมือได้ดีกว่าก็ชนะได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรถเมล์ หลังการแพร่ระบาด COVID-19 รุนแรงขึ้น
รถโดยสาร ขสมก. จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเวลาเดินรถทุกสายใหม่หมด เพราะรถจะต้องหยุดวิ่งก่อนเวลาประกาศเคอร์ฟิวที่ภาครัฐกำหนดไว้ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ทำให้รถเที่ยวสุดท้ายปล่อยออกมาอย่างช้าสุดเวลาประมาณ 20.00 น. และสามารถกลับมาให้บริการอีกครั้งได้ตอนเช้าตรู่ของอีกวันนึง ทำให้รถวิ่งตลอดคืนกะสว่างต้องงดให้บริการกันไปยาวๆ เลยแหละ แต่อย่างไรก็ตามรถเมล์ ขสมก. ยังถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้รับเงินจากจำนวนคนที่ใช้บริการ ถ้าเทียบผลกระทบกับรถเอกชนร่วมบริการแล้วถือว่าน้อยกว่ามาก พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ รถเมล์ ขสกม. ถึงจะมีผู้โดยสารใช้น้อยมาก แบบวิ่งรอบนึงมีคนขึ้นแค่ 20 คน ก็ไม่เป็นอะไร พนักงานขับรถและพนักงานเก็บเงิน ยังคงได้เงินเดือนตามปกตินั่นเอง
ลองไปดูทางฝั่งของรถร่วมเอกชนกันบ้าง บอกได้เลยว่าได้รับผลกระทบหนักหน่วงมาก เพราะรายได้หลักมาจากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการต่อวัน พอจำนวนคนใช้บริการลดลงไปเยอะก็ส่งผลอย่างมาก คิดภาพตามง่ายๆ ต้นทุนวิ่งต่อเที่ยว ค่าจ้างต่างๆ ยังคงเท่าเดิมหมด แต่ไม่มีผู้โดยสารบนรถเลย เหมือนยิ่งเดินรถก็ยิ่งขาดทุนแบบนั้นเลย อ้าว! น้ำมันลดราคาไปเยอะครึ่งนึงแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้ต้นทุนลดลงหรอ คำตอบก็คือไม่เลยจ้า เพราะรถเมล์ส่วนใหญ่ตอนนี้ได้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV กันหมดแล้ว ราคาก๊าซไม่ได้ลดลงตามไปด้วยนะสิ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรถเมล์ ขสมก. และรถเมล์เอกชนร่วมบริการ หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สามารถลิสต์ออกมาเป็นข้อๆ ได้ตามนี้เลยจ้า
• จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้างแล้ว ทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นทำงานที่บ้านแทนการเดินทางไปออฟฟิศ (Work From Home) หลีกเลี่ยงสถานที่ซึ่งพบปะกับผู้คนจำนวนมาก ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ล้วนส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการรถเมล์ลดลงเกินครึ่ง
• ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านในช่วงกลางคืน ทำให้ช่วงเวลาเดินรถลดลง สามารถวิ่งได้แค่ช่วงเช้าตรู่ถึงค่ำเท่านั้นเอง จำนวนรอบวิ่งต่อวันก็ลดลงตามไปด้วย
• ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้สามารถรับผู้โดยสารต่อคันได้ลดลง ที่นั่งเบาะคู่ก็นั่งได้เพียงคนเดียว จำนวนคนยืนก็ต้องเว้นระยะห่างกัน มองในแง่ผู้ประกอบการต้องจ่ายต้นทุนวิ่งเท่าเดิม แต่เก็บค่าโดยสารได้ลดลง ในอีกส่วนนึงคนที่ต้องการเดินทางเป็นหมู่คณะ ก็เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางไปใช้พาหนะอื่นแทนที่มีความสะดวกมากกว่าอีกด้วย
แล้วรถเมล์จะสามารถแบกรับภาระขาดทุน ได้มากแค่ไหน?
รถเมล์ร่วมบริการ แบกรับขาดทุนไม่ไหว เลิกกิจการ!
พูดกันตามตรงเลยว่า รถเมล์ ขสมก. ถึงจะรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายยังไงก็ไม่เจ๊งแน่นอน เพราะรัฐบาลจะเข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว ความจริงทุกวันนี้ ขสมก. ก็ยังมีภาวะขาดทุนสะสมอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเป็นรถเมล์เอกชนร่วมบริการ ไม่มีใครมาอุ้มหรือให้ความช่วยเหลือขนาดนั้น ทำให้บริษัทเดินรถบางรายไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนต่อไปได้
ในช่วงแรกอาจจะคิดว่ายังไหว แต่พอระยะเวลานานขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่รู้เลยว่าจะสิ้นสุดกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่ ประกอบกับรถเมล์ร่วมเอกชนบางสาย ก็หมดสัมปทานเดินรถในช่วงนี้พอดี ทางเลือกในการทำธุรกิจถ้าไปต่อไม่ไหว ก็คือ "ปิดกิจการ" เลิกวิ่งรถนั่นเอง ซึ่งตอนนี้รถร่วมฯ หลายสาย ก็ได้ประกาศหยุดวิ่งแบบถาวรแล้ว
รายชื่อสายรถเมล์ร่วมบริการ ซึ่งปัจจุบันหยุดให้บริการแบบถาวรจากบริษัทเดิมแล้ว
• สาย 9 อู่กัลปพฤกษ์-สถานีรถไฟสามเสน
• ปอ. 68 บางลำภู-สมุทรสาคร
• ปอ. 84 (รถสีเหลือง) คลองสาน-ฟาร์มจระเข้สามพราน
• สาย 110 เทเวศร์-พระรามหก
• สาย 127 บางบัวทอง-บางลำภู
• ปอ. 507 สายใต้ใหม่-ปากน้ำ
ผลที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้บริการเป็นประจำ เพราะรถเมล์บางสายก็ไม่มีตัวเลือกอื่น ผู้โดยสารอาจจะต้องนั่งรถ 2 ต่อแทน ซึ่งก็ต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้น แถมยังเสียเวลามากกว่าเดิมอีก ยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ต้องจ่ายเงินค่ารถเมล์มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ
ล่าสุดทางบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ได้นำรถปรับอากาศมาวิ่งทดแทนจำนวนหนึ่ง เช่น สาย 110 หรือ 127 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่ก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพราะว่าเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ทำให้คิดค่าโดยสารที่แพงกว่ารถเมล์ร้อนปกติ และอาจจะต้องใช้เวลารอนาน เพราะนำรถมาวิ่งแค่บางส่วนเท่านั้น
#SaveForMore #Saveรถเมล์ร่วมบริการ #Saveการเดินทาง
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3